วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๔ : จาคะ : สละอะไรถึงเรียกว่าจาคะ?

สภากาแฟเริ่มต้นอีกแล้วยามรุ่งเช้า สมาชิกของสภานี้ประกอบด้วยลุงโก่ง มหาเก่า ลุงเป็ด ทายกวัดนาดี นายเต่า พ่อค้าขายไข่ นายห่าน พ่อค้าขายไอศกรีม และนายหนู อาชีพทำนา คนทั้งหมดที่กล่าวมามักจะมาสนทนากันที่ร้านกาแฟของนายอั้มเป็นประจำ
    ลุงโก่ง มหาเก่าผู้อาวุโสสูงสุดเริ่มประเด็นพาเข้าหาธรรมะแต่เช้าว่า “ข้าละเอือมระอาไอ้สีกับอีสาเหลือเกิน มันทะเลาะกันเป็นประจำ ผัวเมียกัน มันจะทะเลาะกันไปทำไม ที่ถูกต้องมันต้องมีธรรมะต่อกันถึงจะทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืน” นายเป็ดถามทันทีว่า “แล้วไอ้ธรรมะที่ท่านมหาพูดเนี่ยะมันมีอะไรบ้างล่ะ บอกให้ฉันฟังบ้างซิ” ลุงโก่งบอกว่า “มันมีอยู่หลายข้อนะ แต่ที่จำได้แม่นๆ เลยก็คือจาคะ” นายเต่าชักสงสัย เพราะไม่เคยบวชจึงถามขึ้นมาบ้างว่า “แล้วไอ้จาคะที่ลุงมหาว่าเนี่ยะ มันหมายถึงอะไรล่ะ” ลุงโก่งตอบว่า “มันหมายถึงการเสียสละสิ่งต่างๆ ให้กันและกันนะซิ” นายห่านถามขึ้นมาด้วยความสงสัยเต็มที่ว่า “แล้วไอ้ที่ชายหนุ่มหญิงสาวเขายอมเป็นของกันและกันเนี่ยะ เขาเรียกว่าจาคะหรือเปล่าล่ะลุง” ท่านมหาเก่าชักงงเลยตอบไปว่า “คงงั้นมั้ง ไม่งั้นมันคงอยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก”
    สรุปแล้วเรื่องจาคะในวงสนทนาก็ไม่ได้เรื่องตามเคย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง มหาเก่าอย่างผมก็ต้องยกหลักการมาอธิบายสักหน่อย จาคะในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ประการ คือ
    ๑. อามิสจาคะ หมายถึงการสละหรือการให้สิ่งของแก่กันและกัน เช่น ให้เสื้อผ้า เครื่องประดับ ดอกไม้ อาหาร เป็นต้น ซึ่งมีความหมายเหมือนกับอามิสทาน เป็นหลักการที่สามีภรรยาต้องหยิบยื่นให้แก่กันในโอกาสต่างๆ ตามควร ที่สำคัญสามีภรรยาต้องมีจิตใจที่คิดเสียสละ ยินดีในการให้เหมือนกัน
(สมจาคา) แต่ต้องมีปัญญากำกับด้วยนะครับ
    ๒. กิเลสจาคะ หมายถึง การสละกิเลส หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามออกไปโดยไม่ต้องมีใครร้องขอ หรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ เช่น ภรรยาขอร้องให้สามีเลิกกินเหล้า ถ้าสามีเลิกกินเหล้าตามคำขอของภรรยาได้แสดงว่า สามีมีจาคะให้แก่ภรรยา หรือสามีขอร้องภรรยาว่า อย่านินทาชาวบ้านเลย มันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ถ้าภรรยาเลิกนินทาชาวบ้านตามที่สามีร้องขอได้ก็แสดงว่า ภรรยามีจาคะต่อสามี ประเด็นเรื่องกิเลสจาคะนี่เองที่จะทำให้ชีวิตคู่เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากเป็นการสละความไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูกต้องอันจะเป็นสาเหตุทำลายความสุขของชีวิตคู่ให้พังทลายลงออกไป
    
ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า ความหมายที่แท้จริงของจาคะคืออะไร ถ้าเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติได้ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างมาก และโปรดเข้าใจเพิ่มเติมว่า จาคะมิใช่เป็นเรื่องที่ใช้เฉพาะชีวิตคู่เท่านั้น ทุกคนสามารถนำมาใช้ปฏิบัติต่อกันได้เป็นอย่างดี ดูเหมือนว่าโลกปัจจุบันยิ่งต้องการจาคะทั้ง ๒ ประการอย่างมาก 

บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น