วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๙ : ฎีกา : ใบอะไรเอ่ย?

วันหนึ่งไอ้จุกวิ่งหน้าตั้งเอาใบอะไรก็ไม่รู้มาให้นายมะละกอผู้เป็นพ่อของตนแล้วบอกว่า “ตามะกอก ทายกวัดโค้งมะขามฝากมาให้พ่อ” 

 นายมะละกออ่านดูก็รู้ว่าเป็นใบฎีกาบอกบุญงานวัด จึงอุทานขึ้นมาว่า “โอ้ย ! ตาย แน่ๆ เห็นทีกูจะต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นแล้วกระมัง” 

นางแตงไทยภรรยาสุดที่รักถามขึ้นมาด้วยความสงสัยว่า “นึกอย่างไรขึ้นมาถึงจะเปลี่ยนศาสนาอีกล่ะ ศาสนาไหนมันก็ดีเหมือนกันแหละ เพราะศาสนาเขาสอนให้คนเป็นคนดี ผีเข้าหรือไง” 

นายมะละกอพูดสวนทันควันว่า “ไอ้ที่กูพูดไปเมื่อกี้นี้น่ะ เพราะกูเพลียบุญโว้ย การ์ดแต่งงานบ้านไอ้แกละ การ์ดงานบวชบ้านไอ้หม่อง การ์ด งานทำบุญร้อยวันบ้านตาจ้ำยังไม่ได้เอาเงินใส่ซองเลย เดี๋ยวก็มีวัดโน้น วัดนี้มาเรี่ยไรอีก นี่ก็ใบฎีกาบอกบุญงานวัดอีก จะไม่ให้กูพูดอย่างนี้ได้อย่างไร” เอาเป็นว่าเราจบเรื่องลงตรงนี้ก่อนนะครับ หันมาเข้าประเด็นที่จะพูดดีกว่า

ใบฎีกาเป็นใบที่ทางวัดประกาศเชิญชวนให้ญาติโยมไปร่วมบุญเนื่องในวันสำคัญ เทศกาลทางศาสนา หรือกิจกรรมที่ทางวัดจัดขึ้นเป็นครั้งคราวในปีหนึ่งๆ ซึ่งใครจะไปหรือไม่ไปนั้นทางวัดเขาไม่บังคับหรอกครับ การจะทำบุญช่วยทางวัดหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช้วัตถุประสงค์หลักของการออกใบฎีกา เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ขอให้ผู้อ่านดูหลักการเกี่ยวกับคำนี้ดังต่อไปนี้

    ๑. วัตถุประสงค์ของการออกใบฎีกา เพื่อต้องการให้คนไปร่วมงาน อันเป็นการแสดงพลังของศรัทธาหรือความเชื่อ ความสามัคคี เป็นการพบปะสังสรรค์กัน ทำประโยชน์ให้แก่วัดและชุมชนร่วมกัน และที่สำคัญก็คือการไปร่วมงานจะทำให้ได้ทั้งบุญคือความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำความดี ได้ทั้งกุศลคือความฉลาดในการทำความดี โดยเฉพาะได้หลักการดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ที่พระท่านแสดงหรือเทศน์ให้ฟัง

    ๒. การจะเข้าร่วมหรือไม่อยู่ที่ความพร้อม ถ้าเสียสละเวลาหรือภาระหน้าที่การงานไปได้ ก็เป็นการดี แต่ถ้ามีธุระติดขัดจริงๆ ไม่สามารถไปได้ก็ส่งตัวแทนไป หรือถ้าไม่มีใครสามารถไปได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ถือว่าเป็นบาปกรรมอะไร

    ๓. การจะนำเงินหรือสิ่งของไปช่วยวัดก็ให้พิจารณาดูความเหมาะสม ทำเท่าที่เราสามารถทำได้ อย่าทำให้ตัวเองและครอบครัวเดือดร้อน มากหรือน้อยไม่ใช่ข้อยุติของเรื่องบุญกุศล เนื่องจากมีองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณาอีกหลายประเด็น เป็นอันว่ามีน้อยทำน้อย มีมากก็ทำตามสมควร ถ้าไม่มี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะการช่วยเหลือวัดหรือกิจกรรมของวัดมีหลายวิธี เอาแรงกายไปช่วยก็ได้ หลวงพ่อท่านอนุโมทนาทั้งนั้นแหละครับ

หลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ เป็นหลักปฏิบัติแบบง่ายๆ ที่เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน เรื่องบุญกุศลมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขอให้ผู้สนใจไปศึกษารายละเอียดเอาเองก็แล้วกัน นอกจากนี้ คำว่า ฎีกา ยังหมายถึง คัมภีร์ที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา และคำว่า ใบฎีกา ยังหมายถึง หนังสืออาราธนาพระสงฆ์ไปในการทำบุญต่างๆ และตำแหน่งพระฐานานุกรมรองพระสมุห์ลงมาด้วย

เรื่องที่ ๑๘ : โชคชะตา : ชีวิตขึ้นอยู่กับโชคชะตาจริงหรือ?

เฒ่าหยอยเห็นสีหน้าอันหม่นหมอง ไม่แจ่มใสของทิดเคน จึงถามขึ้นว่า “เป็นอะไรไปล่ะทิดเคน หมู่นี้ดูเอ็งหน้าตาเศร้าหมอง ไม่สดชื่นเอาเสียเลย กลุ้มอกกลุ้มใจเรื่องอะไรล่ะ มีอะไรก็บอกให้ลุงทราบบ้าง เผื่อลุงจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง” 

ทิดเคนพูดขึ้นว่า “ลุงช่วยอะไรผมไม่ได้หรอก โชคชะตาของผมตอนนี้กำลังไม่ดี พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก พระอังคารถอง พระอาทิตย์ถีบ…”  

คำตอบของทิดเคนเล่นเอาเฒ่าหยอยสะดุ้ง อุทานขึ้นมาว่า “มันหนักเอาการถึงขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วเอ็งรู้ได้อย่างไรว่าดวงหรือโชคชะตาเอ็งกำลังเป็นเช่นนั้น” 

ทิดเคนตอบว่า “ก็ผมไปดูหมอมาน่ะซิลุง หมอดูบอกว่าตอนนี้ให้ระมัดระวังตัวหน่อย ชะตาผมขาด จะเจ็บตัวหรืออาจถึงตายได้นะลุง เขาให้ผมไปต่อชะตาที่วัดไหนก็ได้ ลุงช่วยผมได้หรือเปล่าล่ะ” 

 เฒ่าหยอยตอบว่า “ช่วยได้ซิ เดี๋ยวข้าจะพาเอ็งไปหาพระมหาโกย ได้ข่าวว่าท่านช่วยคนที่ชะตาไม่ค่อยดีมามากต่อมากแล้ว” ว่าแล้วเฒ่าหยอยกับทิดเคนก็พากันไปหาท่านพระมหาโกยที่วัดเนินมะม่วง

พอไปถึงคนทั้งสองก็ก้มลงกราบท่านพระมหาโกยๆ จึงถามขึ้นว่า “โยมมีธุระอะไรหรือ” เฒ่าหยอยสาธยายให้ท่านพระมหาโกยฟังทันทีว่า “ไอ้ทิดเคนมันไปดูหมอมาครับ หมอดูทักว่าชะตามันกำลังขาด อาจถึงตาย ท่านมหาช่วยต่อชะตาให้มันทีเถิดครับ” 

 “ได้ จะเป็นไรไป เรื่องนี้ อาตมา ช่วยคนมาเยอะแล้ว” พระมหาโกยกล่าวเสร็จแล้วก็เรียกให้ทิดเคนขยับเข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วท่านก็เริ่มพิธีของท่าน แต่พิธีของท่านนั้นเป็นการต่อชะตาด้วยธรรมโอสถเป็นยาขนานพิเศษที่ท่านเรียนมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า นั่นคือกระบวนการแก้มิจฉาทิฐิ โดยสรุปท่านพระมหาโกยได้ชี้ประเด็นให้ทิดเคนฟังไว้ ๒ ประเด็น คือ

๑. ท่านให้ใช้ปัญญานำศรัทธา หมายถึง ใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างถี่ถ้วนแล้วจึงค่อยเชื่อ โชค ชะตา ดวงเป็นเรื่องของความเชื่อที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เป็นแต่เพียงการทำนาย ทายทักไปตามหลักการ ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ถ้ามีคนหยั่งรู้เรื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าได้ก็คงดี เหตุการณ์ร้ายแรง เช่น คลื่นยักษ์สึนามิที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ถ้าเรารู้ล่วงหน้าคงไม่เสียหายมากถึงขนาดนี้ ที่สำคัญก็คือมีหมอดูคนไหนบ้างที่รู้จักวันตายของตน

๒. ท่านให้เชื่อเรื่องกรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงคำสอนเรื่องกรรม เพื่อชี้ให้คนเห็นว่าคนเราจะดี จะชั่วขึ้นอยู่กับกรรม ไม่ใช่อยู่ที่โชค ชะตา มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนให้เจริญขึ้นจนประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอให้โชคชะตาหนุนหรือรอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย จะเห็นว่าคนบางคนมีทรัพย์สินร่ำรวยมหาศาล ชาติตระกูลก็ดี การศึกษาก็สูง แต่ภายหลังกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะโชคชะตาเล่นงานหรอก แต่เพราะมันไปติดการพนันจนหมดตัว

เป็นอันว่าวันนั้นทิดเคนไม่ได้ต่อชะตาตามพิธีกรรม แต่ได้รับการต่อชะตาคือการชี้ให้เห็นทางเดินที่ถูกต้องตามหลักการทางพระพุทธศาสนา ทำให้แกเกิดปัญญาพร้อมกับเฒ่าหยอยไปด้วย เสร็จแล้วทั้งสองคนก็ลาท่านพระมหาโกยกลับบ้าน ทิดเคนได้นำหลักการที่ท่านพระมหาโกยให้มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ปัญญาในการพิจารณาเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตอย่างถี่ถ้วน สร้างขวัญและกำลังเพื่อต่อสู้ในการดำเนินชีวิตทุกเรื่อง ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างรับผิดชอบด้วยความขยันอดทน หมั่นสร้างแต่กรรมดี งดเว้นการทำความชั่ว ในที่สุดทิดเคนก็ประสบกับความสำเร็จในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดี

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๗ : ชาติ : ชาติหน้ามีจริงหรือไม่?

ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำด่าที่มีคำว่าชาติผสมอยู่ด้วย เช่น “ไอ้ชาติหมา ไอ้ชาติชั่ว” เป็นต้น ขออภัยที่ต้องขึ้นข้อความด้วยคำด่าที่ฟังแล้วไม่ระรื่นหู แต่ที่ต้องยกมาพูดเพื่อนำเข้าไปสู่ประเด็นเรื่องของการเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำนี้ ซึ่งก็มีอยู่หลายประเด็น 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า “ชาติ” ก่อนว่า หมายถึงอะไร คำว่า “ชาติ” ส่วนใหญ่แปลว่า การเกิด แต่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลไว้หลายความหมาย เช่น การเกิด พวก ตระกูล ชนิด จำพวก ชั้นหมู่ ประเทศ เป็นต้น มีประเด็นที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำนี้ ขอให้ดูตัวอย่างต่อไปนี้

    ตัวอย่างที่หนึ่ง : ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ตาจันทร์พูดขึ้นในท่ามกลางเพื่อนฝูงที่มาร่วมงานศพนายอาทิตย์ว่า “เฮ้ย! พวกเอ็งว่าชาติหน้ามีจริงหรือไม่”  

    ตาศุกร์ตอบทันทีว่า “ไม่รู้สิ กูไม่เคยตาย อยากรู้มึงลองตายดูซิ” เจ้าแกละหลานตาจันทร์พูดขึ้นบ้างว่า “ชาติหน้าไม่มีจริงหรอก เรื่องหลอกเด็ก” ตาเสาร์กล่าวบ้างว่า “เฮ้ย! พวกเอ็งอย่าเถียงกันเลย พวกเราไปถามหลวงตาพุธดีกว่า” เสร็จแล้วพวกแก่ธรรมาสน์ทั้งหลายก็พากันไปถามหลวงตาพุธที่กำลังนั่งฉันน้ำชาอยู่บนอาสนสงฆ์ หลวงตาพุธตอบว่า “ตามตำราเขาว่ามีอยู่จริงนะ” สรุปแล้วเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด

    ตัวอย่างที่สอง : ตายแล้วไปไหน เรื่องแรกยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดเลย ตาอังคารก็เปิดประเด็นขึ้นมาใหม่ด้วยคำถามว่า “คนตายแล้วไปไหน” ตาพฤหัสตอบขึ้นทันทีว่า “ไปวัดซิวะ กูเห็นหามกันไปวัดทุกที ไม่เห็นหามกันไปที่อื่นเลย” ตากล่ำพูดอวดภูมิตัวเองขึ้นมาบ้างว่า “โถ่เอ๋ยอย่าเถียงกันเลยว่ะ คนตายแล้วมันไม่ได้ไปไหนหรอก มันก็กลายเป็นธาตุไปเท่านั้นเอง ดินไปอยู่กับดิน น้ำไปอยู่กับน้ำ ลมไปอยู่กับลม ไฟไปอยู่กับไฟ กูไม่เห็นมีใครกลับมาบอกซักคนว่ามันไปอยู่ที่ไหนกัน” คำพูดของตากล่ำฟังดูแล้วเข้าท่า (ทุกคนพูด) สรุปแล้วในวงสนทนาก็ยังไม่ได้ข้อยุติอีกเช่นเคย

ขอตอบแทนสภาศาลาวัดทั้ง ๒ เรื่องเลยก็แล้วกัน ชาติหน้ามีจริง มนุษย์ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสต้องเกิด ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับกรรมคือการกระทำของเรานี่แหละ สรุปก็คือถ้าเราทำชั่ว ที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า ทำบาปไว้มาก ตายแล้วจะไปเกิดในทุคติ คือ ตกนรก เป็นเปรต สัตว์เดรัจฉาน และอสุรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับกรรมชั่วที่ทำไว้ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ ส่วนผู้ที่ทำกรรมดีหรือบุญไว้มาก ก็จะไปเกิดในสุคติคือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ถ้าพัฒนาตนจนถึงเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานก็ไม่ต้องเกิดอีก เรื่องการเกิดหรือไม่เกิดมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขอฝากไว้ให้ผู้อ่านไปศึกษาเพิ่มเติมนะครับ

เรื่องที่ ๑๖ : ฉายา : ชื่อที่ได้ตามคุณสมบัติหรือพฤติกรรม?

มีเสียงชายคนหนึ่งตะโกนลั่นตลาดว่า “เฮ้ย! พวกเรารีบหลบไป ไอ้เหิมเกริม ฉายาตีนเทวดา กำลังมา” ฟังดูก็รู้ว่าคนที่กำลังมาเป็นใคร จะเป็นใครไปเสียไม่ได้ เขาก็คือนักเลงใหญ่หรือที่เรียกตามภาษาใหม่ๆ ว่า “โจ๋บ้าง ขาใหญ่บ้าง เจ้าพ่อบ้าง” ฉายาที่ชาวบ้านตั้งให้มัน คือตีนเทวดา เนื่องจาก เจ้าเหิมเกริมเตะ ต่อย ตบหรือทำร้ายใคร ใครไม่เคยติดคุก ชาวบ้านแถวนั้นรู้กิตติศัพท์ของมันเป็นอย่างดี จึงไม่มีใครกล้าตอแย

    จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น เป็นการนำเอาศัพท์ทางพระมาใช้ในความหมายที่ไม่ตรงกับเนื้อแท้ของคำนี้นัก เนื่องจากเป็นการตั้งชื่อให้ตามคุณสมบัติ ซึ่งก็มีทั้งในเชิงบวกและลบของคน ตัวอย่างเช่น

    ๑. ฉายาในเชิงบวก เช่น แหบมหาเสน่ห์ (สายัณห์ สัญญา) Man City Lion (ชายเมืองสิงห์) ไอ้หมัดทะล้วงไส้ (เขาทราย แกแล็กซี่) เป็นต้น
    ๒. ฉายาในเชิงลบ เช่น เจ้าพ่อนครบาล เจ้าแม่ภูธร มือปืนร้อยศพ เป็นต้น

    จากตัวอย่างของฉายาที่ตั้งให้กันข้างต้น ถ้านำมาเปรียบเทียบกับฉายาที่พระสงฆ์ใช้จะแตกต่างกัน คำว่า “ฉายา” หมายถึง ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้พระภิกษุในวันบวช เป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้บวชจะต้องเปลี่ยนเชื่อใหม่ เพื่อให้เป็นภาษาบาลีตามหลักพระวินัยและธรรมเนียมของการตั้งชื่อพระภิกษุในครั้งพุทธกาล แต่ที่ใช้กันในประเทศไทยคล้ายกับเป็นนามสกุลของพระ เช่น พระมหาสมชาย ฉายา อิทฺธิโชโต จริง ๆ แล้วไม่ใช่นามสกุล แต่เป็นชื่อใหม่ที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้ในวันที่บวช ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายในทางที่ดี ตัวอย่างที่ยกไว้ คืออิทฺธิโชโต แปลว่า ผู้รุ่งเรื่องด้วยฤทธิ์หรือความสำเร็จ ซึ่งผิดกับฉายาที่ชาวบ้านตั้งให้กัน จะใช้คุณสมบัติทั้งที่ดีและไม่ดีเป็นตัวกำหนด ดังตัวอย่างที่ยกไว้ข้างต้น สำหรับแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องนี้ขอสรุปไว้ ๒ ประเด็น คือ

    ๑. พัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ เช่น มีปัญญามากขึ้น มีทักษะในเรื่องต่างๆ มีคุณธรรมมากขึ้น เป็นต้น เพื่อให้ได้ชื่อใหม่ (ฉายา) ที่เกิดจากการการกระทำเรื่องที่ดีงาม เช่น นายบุญมี พ่อพระของชาวดอนตาล เนื่องจากตาบุญมีแกเป็นคนที่โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นต้น
    ๒. ไม่ประพฤติตนเสียหาย เพื่อไม่ให้คนประณามหรือตั้งฉายาที่เสื่อมเสียต่อตัวเองและวงศ์ตระกูล 
จากหลักการเกี่ยวกับฉายาอาจทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องฉายาตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ตลอดกระทั่งได้แนวทางแห่งการสร้างฉายาหรือชื่อในทางที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน ผู้อื่นและสังคมอย่างมหาศาล

เรื่องที่ ๑๕ : ฉันทะ : รักแบบไหนจึงเป็นฉันทะ?

“ฉันทะคืออะไรคะ” นักเรียนคนหนึ่งถามคุณครู 

ครูสาวตอบว่า “ฉันทะก็คือความพอใจนะซิคะ” (ครูตอบตามตำราที่ว่าไว้ในหลักอิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) 

เด็กหญิงคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อย่างนั้นเพื่อนหนูคงไม่มีฉันทะแน่เลยค่ะคุณครู” 

คุณครูใจดีย้อนถามทันทีว่า “เพราะอะไรเพื่อนหนูจึงไม่มีฉันทะล่ะคะ”  

เด็กนักเรียนคนดังกล่าวตอบทันทีว่า “ก็เมื่อวานนี้หนูถามเขาว่า “วันพรุ่งนี้จะไปเรียนหรือเปล่า” เขาบอกหนูว่า “ไม่ไปหรอก” หนูเลยถามเขาว่า “ทำไมจึงไม่ไป” เขาบอกหนูว่าเขาไม่พอใจครูค่ะ หนูก็ถามเขาต่อไปว่า “ทำจึงไม่พอใจครูละ ครูไปทำอะไรให้เธอไม่พอใจหรือ” เขาบอกหนูว่าเวลาที่เขาทำเลขไม่ได้ คุณครูชอบดุเขาค่ะ แสดงว่าเพื่อนหนูคงไม่มีฉันทะแน่เลย เพราะเขาไม่พอใจครู ถ้าเขาพอใจครูเขาคงมาเรียนแล้วค่ะ”  (แหม! มีลูกศิษย์ช่างเจรจา ช่างสงสัย ช่างคิดอย่างนี้คงดีนะครับคุณครูทั้งหลาย)

    เรื่องฉันทะที่ยกตัวอย่างมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังมีการเข้าใจไม่ถูกต้องในบางเรื่อง บางประเด็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น ขออธิบายหลักการของธรรมะข้อนี้โดยสรุปดังต่อไปนี้

    ๑. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ หรือความรัก แต่เป็นความพอใจหรือความรักที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดีงามให้สำเร็จ จากตัวอย่างที่เด็กหญิงในห้องคนหนึ่งคิดว่าเพื่อนของแกไม่มีฉันทะ เพราะไม่ชอบครู เป็นเรื่องที่เกิดการเข้าใจผิด เนื่องจากความไม่พอใจดังกล่าวเป็นลักษณะของโทสะ ไม่ใช่ตัวฉันทะ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีนะครับ

    ๒. ฉันทะเป็นองค์ธรรมข้อหนึ่งในอิทธิบาท ๔ จึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมที่ผลักดันให้คนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดีงามได้สำเร็จ แต่จะสำเร็จได้เป็นอย่างดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอีก ๓ ประการ คือ วิริยะ หมายถึง ความเพียรพยามทำเรื่องนั้นให้สำเร็จ จิตตะ หมายถึง ความต่อเนื่องของการกระทำ คือการกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ไม่ปล่อยวาง และวิมังสา หมายถึง การใช้ปัญญากำกับในการกระทำเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ ตรวจดูความคืบหน้า ความถดถอย ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น เมื่อพบแล้วก็หาวิธีการแก้ไข ป้องกันเสีย เมื่อใช้องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาได้อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ก็จะทำให้เรื่องที่เราทำสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกหลักธรรมนี้ว่า “อิทธิบาท” หมายถึงหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในด้านต่างๆ

หลักการทั้ง ๒ ประการนี้ อาจทำให้ผู้อ่านได้วิธีการปฏิบัติต่อเรื่องฉันทะได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญก็คือเราต้องเห็นธรรมข้อนี้ด้วยปัญญา หมายถึง เห็นถึงคุณประโยชน์ของหลักธรรมข้อนี้ว่าดีอย่างไร เห็นถึงกระบวนการส่งเสริมกันและกันขององค์ธรรมทั้ง ๔ ข้อว่าจะส่งผลสู่ความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งจะลึกซึ้งกว่า การรู้
 

บทความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๑๔ : จาคะ : สละอะไรถึงเรียกว่าจาคะ?

สภากาแฟเริ่มต้นอีกแล้วยามรุ่งเช้า สมาชิกของสภานี้ประกอบด้วยลุงโก่ง มหาเก่า ลุงเป็ด ทายกวัดนาดี นายเต่า พ่อค้าขายไข่ นายห่าน พ่อค้าขายไอศกรีม และนายหนู อาชีพทำนา คนทั้งหมดที่กล่าวมามักจะมาสนทนากันที่ร้านกาแฟของนายอั้มเป็นประจำ
    ลุงโก่ง มหาเก่าผู้อาวุโสสูงสุดเริ่มประเด็นพาเข้าหาธรรมะแต่เช้าว่า “ข้าละเอือมระอาไอ้สีกับอีสาเหลือเกิน มันทะเลาะกันเป็นประจำ ผัวเมียกัน มันจะทะเลาะกันไปทำไม ที่ถูกต้องมันต้องมีธรรมะต่อกันถึงจะทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืน” นายเป็ดถามทันทีว่า “แล้วไอ้ธรรมะที่ท่านมหาพูดเนี่ยะมันมีอะไรบ้างล่ะ บอกให้ฉันฟังบ้างซิ” ลุงโก่งบอกว่า “มันมีอยู่หลายข้อนะ แต่ที่จำได้แม่นๆ เลยก็คือจาคะ” นายเต่าชักสงสัย เพราะไม่เคยบวชจึงถามขึ้นมาบ้างว่า “แล้วไอ้จาคะที่ลุงมหาว่าเนี่ยะ มันหมายถึงอะไรล่ะ” ลุงโก่งตอบว่า “มันหมายถึงการเสียสละสิ่งต่างๆ ให้กันและกันนะซิ” นายห่านถามขึ้นมาด้วยความสงสัยเต็มที่ว่า “แล้วไอ้ที่ชายหนุ่มหญิงสาวเขายอมเป็นของกันและกันเนี่ยะ เขาเรียกว่าจาคะหรือเปล่าล่ะลุง” ท่านมหาเก่าชักงงเลยตอบไปว่า “คงงั้นมั้ง ไม่งั้นมันคงอยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก”
    สรุปแล้วเรื่องจาคะในวงสนทนาก็ไม่ได้เรื่องตามเคย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง มหาเก่าอย่างผมก็ต้องยกหลักการมาอธิบายสักหน่อย จาคะในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ประการ คือ
    ๑. อามิสจาคะ หมายถึงการสละหรือการให้สิ่งของแก่กันและกัน เช่น ให้เสื้อผ้า เครื่องประดับ ดอกไม้ อาหาร เป็นต้น ซึ่งมีความหมายเหมือนกับอามิสทาน เป็นหลักการที่สามีภรรยาต้องหยิบยื่นให้แก่กันในโอกาสต่างๆ ตามควร ที่สำคัญสามีภรรยาต้องมีจิตใจที่คิดเสียสละ ยินดีในการให้เหมือนกัน
(สมจาคา) แต่ต้องมีปัญญากำกับด้วยนะครับ
    ๒. กิเลสจาคะ หมายถึง การสละกิเลส หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามออกไปโดยไม่ต้องมีใครร้องขอ หรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ เช่น ภรรยาขอร้องให้สามีเลิกกินเหล้า ถ้าสามีเลิกกินเหล้าตามคำขอของภรรยาได้แสดงว่า สามีมีจาคะให้แก่ภรรยา หรือสามีขอร้องภรรยาว่า อย่านินทาชาวบ้านเลย มันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ถ้าภรรยาเลิกนินทาชาวบ้านตามที่สามีร้องขอได้ก็แสดงว่า ภรรยามีจาคะต่อสามี ประเด็นเรื่องกิเลสจาคะนี่เองที่จะทำให้ชีวิตคู่เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากเป็นการสละความไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูกต้องอันจะเป็นสาเหตุทำลายความสุขของชีวิตคู่ให้พังทลายลงออกไป
    
ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า ความหมายที่แท้จริงของจาคะคืออะไร ถ้าเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติได้ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างมาก และโปรดเข้าใจเพิ่มเติมว่า จาคะมิใช่เป็นเรื่องที่ใช้เฉพาะชีวิตคู่เท่านั้น ทุกคนสามารถนำมาใช้ปฏิบัติต่อกันได้เป็นอย่างดี ดูเหมือนว่าโลกปัจจุบันยิ่งต้องการจาคะทั้ง ๒ ประการอย่างมาก 

บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๑๓ : จริต : มารยาหรือนิสัยของมนุษย์?


   ยายเมี้ยนแกเป็นคนปากจัด วันหนึ่งแกด่าลูกสาวของแกว่า “มึงนี่ดัดจริตจริงๆ น้ำเปล่าทำเป็นกินไม่ได้ ต้องใส่น้ำแข็ง กูไม่มีหรอกน้ำแข็งน่ะ มีแต่น้ำแข้งกับน้ำหลังมือเนี่ยะ มึงจะเอาไหม” เล่นเอาลูกสาวแกงอนตุ๊บป่อง เดินกระทืบเท้าตึงๆ ส่งผลให้เสาเข็มใต้พื้นบ้านทรุดตัวไปหลายเซ็นต์ (ลืมบอกไปว่า ลูกสาวแกน้ำหนักเพียงแค่ ๑๓๐ ก.ก.เท่านั้นเอง)
    ยกประเด็นยายเมี้ยนด่าลูกสาวมาเล่าให้ฟัง เพื่อชี้ให้เห็นว่า แกใช้คำว่า “จริต” มาผสมผสานกับคำว่า “ดัด” มาเป็นคำด่า กลายเป็น “ดัดจริต” ซึ่งมีความหมายว่า แสร้งทำกิริยาหรือวาจาให้เกินควร เพื่อให้เห็นความหมายและแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องนี้ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาขอสรุปประเด็นเรื่องนี้ไว้ ๒ ประการ คือ
    ๑. ความหมายและประเภท คำว่า “จริต” หมายถึง ความประพฤติของคน ซึ่งมักจะหนักไปทางใดทางหนึ่ง มีอยู่ด้วยกัน ๖ ประเภท คือ (๑) ราคจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางรักสวย รักงาม เจ้าระเบียบ (๒) โทสจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเจ้าโทสะ โกรธง่าย วู่วาม ชอบความรุนแรง (๓) โมหจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเขลา ขาดปัญญา ทำอะไรมักผิดพลาดอยู่เสมอ (๔) สัทธาจริต หมายถึง  คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเชื่อง่าย ใครพูดอะไรมาก็มัก
จะเชื่อ โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน (๕) พุทธิจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเจ้าความคิด เชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบวิเคราะห์ วิจารณ์เรื่องต่างๆ (๖) วิตกจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางด้านวิตกกังวล คิดมาก ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือปุถุชนทุกคนมีจริตทั้ง ๖ ประการ เหมือนกัน แต่จะหนักไปทางใดทางหนึ่งนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น บางคนหนักไปทางด้านรักสวย รักงาม ก็เรียกบุคคลนี้ว่าเป็นคนราคจริต เป็นต้น
    ๒. ประโยชน์ การเรียนรู้จักจริตเหล่านี้จะทำให้เราสามารถปรับพฤติกรรมที่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่งอย่างเกินขอบเขตให้เกิดความพอดี ถูกต้อง เหมาะสม ตลอดจนกระทั่งระมัดระวังจริตที่จะสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง ผู้อื่น และสังคม รวมถึงการปฏิบัติและการวางตนต่อบุคคลที่มีจริตต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
    จะเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องจริตเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมาก มิใช่เป็นเรื่องของกิริยาท่าทางที่แสดงออกมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินจริง เหมือนอย่างที่ชาวบ้านชอบพูดกันว่า “ดัดจริต” แต่เป็นการเรียนรู้ถึงนิสัยของตัวเองเพื่อที่จะหาทางแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีงามอันเป็นการป้องกันความเสียหายต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคมไปในตัวด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้นิสัยของคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราระมัดระวังและปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๑ : โคจร อโคจร : สถานที่ใดบ้างที่พระภิกษุไม่ควรไป?


มีเรื่องที่สร้างความฮือฮาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่พักหนึ่งก็คือกรณีมีผู้ร้องเรียนถึงพฤติกรรมการเดินห้างไปซื้อสิ่งต่างๆ ของพระสงฆ์ โดยเนื้อหาที่ร้องเรียนได้ระบุถึงความไม่เหมาะสมที่พระสงฆ์ไปเดินในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ห้างพันธ์ทิพย์ เป็นต้น ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมต้องออกมาพูดและดูเหมือนว่าจะออกกฎเข้ามาควบคุมเรื่องนี้ด้วย ซึ่งก็ทำให้ชาวพุทธมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้ขอนำเสนอความหมายและแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องนี้ไว้ในประเด็นต่อไปนี้

    ๑. ความหมาย คำว่า “โคจร” แปลว่า สถานที่เที่ยวไปของโค หมายถึง สถานที่หากินของโค พระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ที่ต้องอาศัยชาวบ้าน จึงทรงบัญญัติพระวินัยเกี่ยวกับเรื่องโคจรขึ้นมา โดยสรุปสถานที่ที่พระภิกษุพึงเข้าไป จะต้องมีความเหมาะสมกับสถานภาพของนักบวช ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็น เช่น ในยามเกิดศึกสงครามจำเป็นต้องลี้ภัยก็สามารถเดินทางไปกับกองทัพได้ แต่มีสถานที่ที่เป็นอโคจร หมายถึง บุคคลหรือสถานที่พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไป เนื่องจากมีความไม่เหมาะสม และอาจก่อให้เกิดเรื่องเสียหายขึ้นทั้งแก่ตัวพระสงฆ์เองและพระศาสนา ซึ่งท่านแสดงไว้ ๕ ประการ คือ หญิงม่าย สาวเทื้อ (สาวแก่ที่ยังไม่แต่งงาน) บัณเฑาะก์ (กระเทย) ภิกษุณี และโรงสุรา (รวมแหล่งถึงขายยาเสพติดและแหล่งการพนันทุกชนิด) 

    ๒. ประเด็นการพิจารณาว่าพระไปเดินตามห้างเหมาะสมหรือไม่ คงต้องวินิจฉัยในหลายเรื่อง อย่างแรกอาจมองไปที่ว่า เรื่องห้างยังไม่มีในสมัยพุทธกาล แต่มีหลักของมหาปเทสที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้เป็นหลักในการพิจารณาเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้านำหลักมหาปเทสมาใช้ ห้างที่มีคนพลุกพล่านก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่พระสงฆ์ไม่ควรไป โดยเฉพาะการไปจับจ่ายซื้อสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ถ้าว่าตามหลักวินัยจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ผิดอยู่แล้ว แต่ในประเทศไทยเราก็อนุโลมกันว่าพระภิกษุสามารถรับเงินและซื้อสิ่งของได้ ถ้ามุ่งไปที่ลักษณะการตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ ก็ดูเหมือนว่า การไปเดินตามห้างเพื่อซื้อสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องที่ผิดจากหลักการข้อนี้ เพราะไม่ได้มุ่งไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ความสงัด แต่เป็นเรื่องของความพลุกพล่าน ไม่สอดคล้องกับคำว่า สมณะที่แปลว่า ผู้ต้องการความสงบ 

    ขอจบเรื่องนี้ไว้เพียงแค่นี้นะครับ อย่างไรขอให้ชาวพุทธใช้สติปัญญาให้มากนะครับ อย่าใช้อารมณ์และอัตตาเป็นเครื่องตัดสิน แต่ขอให้ยึดพระธรรมวินัยไว้นะครับแล้วทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างถูกต้อง และจะก่อให้เกิดผลดีต่อพระศาสนาโดยรวม

บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๑๐ : คว่ำบาตร : บทลงโทษสร้างสรรค์หรือทำลาย?


เหตุเกิดขึ้นที่สภาชุมชนบ้านโคกไม้ขาว ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงหนักแน่นหลังจากได้ประชุมปรึกษาหารือกับลูกบ้านเรื่องพฤติกรรมของพ่อค้าคนกลางที่เอารัดเอาเปรียบชาวนาด้วยการกดราคาข้าวให้ต่ำลง ทำให้ชาวนาเสียผลประโยชน์ว่า 

“เราจะต้องคว่ำบาตรพวกพ่อค้าหน้าเลือดเหล่านี้” 

ตาขำทักท้วงขึ้นมาทันทีว่า “คว่ำบาตรแล้วพระจะเอาบาตรที่ไหนไปบิณฑบาตเล่าผู้ใหญ่” 

ผู้ใหญ่บ้านชักฉุนจึงพูดขึ้นว่า “จะเล่นตลกหรือไงตาขำ ที่ผมพูดน่ะ ไม่ได้หมายความว่าให้ไปเอาบาตรพระมาคว่ำ แต่หมายถึง การไม่คบค้าสมาคม ไม่ขายข้าวให้กับพวกพ่อค้าหน้าเลือดเหล่านั้น พวกเราต้องรวมกลุ่มกัน เป็นผู้ตั้งราคาข้าวขึ้นมาเอง จะได้ไม่ถูกเขาเอารัดเอาเปรียบอีก” 

ตาเขียนถามขึ้นบ้างว่า “ผู้ใหญ่ ถ้าเราตั้งราคาเองแล้ว ไม่มีพ่อค้าคนไหนมาซื้อเล่าจะทำอย่างไร” 

ผู้ใหญ่ตอบทันทีว่า“เอ็งไม่ต้องกังวลไปหรอก เดี๋ยวนี้รัฐบาลเขามีนโยบายให้เกษตรกร นำข้าวไปเข้าโครงการจำนำข้าวได้แล้ว” 
นายขาวถามขึ้นด้วยความสงสัยว่า “จำนำข้าวเสียดอกเบี้ยเหมือนเอานาฬิกาไปจำนำไหม” 

ผู้ใหญ่ตอบทันที่ว่า “มันคนละเรื่องกันแล้ว ไอ้ที่แกพูดน่ะ มันโรงจำนำ แต่การจำนำข้าวเปลือกก็คือการเอาข้าวไปฝากขายให้แก่รัฐบาลๆ เขาให้ตามราคาประกันไว้ เขาไม่เอาเปรียบชาวนาอย่างพวกเราหรอก”

    ท่าทางการประชุมยังจะหาข้อยุติไม่ได้ เพราะมีการแตกประเด็นกันไปเรื่อยๆ เอาละปล่อยให้สภาโคกไม้ขาวเขาประชุมกันต่อไปก็แล้วกัน เรามาเข้าเรื่องการคว่ำบาตรดีกว่า ซึ่งมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจตามที่ผู้ใหญ่แกพูดว่ามันคืออะไรกันแน่ ในประเด็นดังต่อไปนี้

  ๑. คว่ำบาตรเป็นสังฆกรรมประการหนึ่ง ที่พระสงฆ์นำมาใช้ประกาศลงโทษอุบาสก อุบาสิกาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น ทำลายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

    ๒. วัตถุประสงค์ของการคว่ำบาตร มิใช่เป็นการเอาเป็นเอาตายกับอุบาสก อุบาสิกาผู้มีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่เป็นการลงโทษเพื่อให้เขาสำนึกตัว จะได้ไม่ทำอย่างนั้นอีก เมื่อเขาสำนึกผิด เข้ามาหาและขอโทษพระสงฆ์ พร้อมทั้งปฏิญาณตนว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก พระสงฆ์ก็ต้องประกาศเลิกคว่ำบาตร ให้อภัย และให้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องแก่เขา พร้อมทั้งประกาศให้พระสงฆ์คบค้าสมาคม รับเครื่องไทยธรรมจากบ้านของบุคคลนั้นได้ตามปกติ

    จากประเด็นเรื่องการคว่ำบาตรนี้ ชาวบ้านได้นำเอาหลักการของพระสงฆ์มาใช้กันดังตัวอย่างข้างต้น ก็คงไม่ผิด ความหมายก็เหมือนเดิมคือเป็นการลงโทษด้วยการไม่คบหา ไม่ร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บุคคลที่มีพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือสังคมได้สำนึก และกลับตัวกลับใจเป็นคนดี สังคมก็พร้อมที่จะให้อภัย แต่อย่างไรก็ต้องระมัดระวังนะครับ เพราะสังฆกรรมเป็นเรื่องที่ใช้เฉพาะพระสงฆ์ อาจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนที่ไม่รู้ความเป็นมาในอนาคตได้
บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๙ : คาถา : ไสยเวทย์หรือ หลักปฏิบัติเพื่อความดีงาม?


นายหมึกหน้าตาเศร้าหมอง ดูแล้วไม่มีราศีเอาเสียเลย เหมือนคนไร้จิตวิญญาณ เดินเข้าไปหาหลวงตาเท่ง ก้มลงกราบแล้วพูดด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า “หลวงตามีคาถาดีๆ ไหม” หลวงตาเท่งถามว่า “คาถาอะไรวะไอ้หมึก” นายหมึกตอบหลวงตาทันทีว่า “คาถาจีบสาวหรือทำให้สาวหลงนะ มีไหมหลวงตา” หลวงตาเท่งตอบว่า “มี แต่เป็นคาถาของพระพุทธเจ้านะ เอ็งจะเอาไหม” นายหมึกรีบตอบทันควันว่า “เอาซิหลวงตา ถ้าไม่เอาจะมาหาหลวงตาทำไม” (ดูมันใช้คำพูดกับพระซิ ยังกับเป็นเพื่อนเล่นของมันน่ะ)

    ขอยุติเรื่องตรงนี้ไว้ก่อนนะครับ เพื่อเข้ามาสู่ประเด็นเรื่องคาถาตามความเข้าใจของนายหมึกกับคำพูดของหลวงตาเท่ง คาถาในความคิดของนายหมึกคือเวทมนตร์ที่นำไปท่องหรือร่ายเพื่อให้เกิดสิ่งที่ตนต้องการ ในเรื่องก็คือเวทมนตร์ที่ทำให้สาวรัก แต่คาถาในความหมายของหลวงตาเท่งนั้น หมายถึง บทประพันธ์ประเภทร้อยกรองที่เรียกตามภาษาพระว่า “ฉันทลักษณ์” ซึ่งประกอบด้วย ๔ บาท ตามข้อบังคับของฉันท์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น

    อเสวนา จ พาลานํ      ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
    ปูชา จ ปูชนียานํ        เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

    ฉันทลักษณ์ที่ยกเป็นตัวอย่างนี้เรียกว่า “ปัฏฐยาวัตรฉันท์” จะเห็นว่าในหนึ่งคาถาประกอบด้วย ๔ บาท (อเสวนา จ พาลานํ เป็นบาทหนึ่ง) ใจความสำคัญอยู่ที่ว่า คาถาที่หลวงตาเท่ง
พูดถึงนี้เป็นหลักคำสอนที่ต้องนำไปปฏิบัติตาม ไม่ใช่เกิดจากอำนาจของการสวด เสก เป่า จากคาถาตัวอย่างนี้มีหลักปฏิบัติ ๓ ประการ คือการไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต และการบูชาบุคคลที่ควรบูชา ต่อให้มีคาถาของพระพุทธเจ้าเต็มหัว สวด เสก เป่าจนลมหมดไส้ หมดพุง แต่ไม่ปฏิบัติตามก็ไร้ผล

    เรื่องนี้จบลงตรงที่ว่า หลวงตาเท่งได้ให้คาถาของพระพุทธเจ้าแก่นายหมึกไป ๓ ตัว คือ “อุ ป สุ” แล้วท่านก็ขยายความให้นายหมึกฟังว่า

    อุ นี้มาจาก อุฏฐานสัมปทา หมายถึง ขยันทำมาหากิน ไม่ใช่ขี้เกียจสันหลังยาวอย่างเอ็งทุกวันนี้ (ลืมบอกไปว่าเจ้านี้มันขี้เกียจตัวเป็นขน)

    ป มาจาก ปัญญา หมายถึง ต้องใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต อย่างน้อยต้องรู้จักแยกแยะว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรไม่ดี ก็มึงเล่นกินเหล้าเมามันทั้งวัน แล้วสาวคนไหนเขาจะเอามึงไปทำผัววะ (ลืมบอกไปว่าไอ้หมึกมันกินเหล้าหัวราน้ำเลยละครับ)

    สุ มาจาก สุจิ ไม่ใช่ อสุจิ นะโว้ย หมายถึง คนที่มีเสน่ห์ต้องเป็นคนมีความสะอาดทั้ง ๓ ทาง คือทางกายต้องไม่เบียดเบียนหรือไม่ทำร้ายชีวิตใครๆ ไม่ละเมิดทรัพย์สินของใคร และไม่ไป ล่วงละเมิดทางเพศกับคู่ครองหรือคนที่ไม่ใช่สามีภรรยาของตน ทางวาจาคือต้องไม่โกหกหลอกลวงใคร ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดยุแหย่ให้ชาวบ้านเขาผิดใจ แตกคอกัน และไม่พูดเรื่องที่ไร้สาระ พูดแต่คำที่เป็นจริง คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน คำพูดที่ส่งเสริมให้คนรักใคร่ กลมเกลียวกัน และคำพูดที่มีสาระประโยชน์ ทางใจคือไม่คิดโลภอยากได้ของผู้อื่น ไม่พยาบาท อาฆาตมุ่งร้ายใคร และมีความเห็นที่ถูกต้อง ก็มึงเล่นทำตัวสกปรกซ๊กม๊ก น้ำท่าไม่ยอมอาบ เมาแล้วนอนให้หมาเลียปากอย่างนี้ อย่าว่าแต่คนปกติทั่วไปเลย คนบ้ามันยังไม่เอามึงไปทำผัวเลยว่ะ มึงต้องดูแลร่างกายให้สะอาดสะอ้านสมกับเป็นผู้เป็นคนหน่อย

    หลังจากที่ได้คาถาและทราบความหมายเป็นอย่างดีแล้ว นายหมึกก็นำคาถามาท่องจนขึ้นใจและปฏิบัติตามคาถาเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด ในที่สุดนายหมึกก็เป็นคนหนึ่งที่มีฐานะมีอันจะกิน ต่อมา ได้มีสาวคนหนึ่งชื่อน้องน้ำค้างมาตกหลุมรักไอ้หมึก ในที่สุดทั้งสองก็แต่งงานกัน ปัจจุบันมีลูก ๓ คนแล้วครับ ใครจะเอาคาถาของหลวงตาเท่งไปใช้บ้างก็เชิญนะครับ รับรองได้ผลทุกราย


บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๘ : คติ : ตายแล้วไปไหน?


บรรยากาศในงานเผาศพของตาเมฆเต็มไปด้วยความเศร้าโศก อาลัย ลานวัดแออัดไปด้วยคนที่รู้จักมักคุ้นและคนที่เคารพนับถือในตัวตาเมฆ เนื่องจากตาเมฆแกเป็นคนดี มีน้ำใจ เป็นคนที่เสียสละ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสังคมเสมอมา หลังจากที่ทำพิธีสวดมาติกา บังสุกุล นำศพเวียนรอบเมรุ ทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ อ่านประวัติผู้ตาย ยืนไว้อาลัย ท่านประธานในพิธีขึ้นทอดผ้ามหาบังสุกุล พระภิกษุพิจารณาผ้ามหาบังสุกุล ประธานในพิธีวางดอกไม้จันทน์ พระสงฆ์ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ผู้ที่มาเผาศพต่างทยอยกันขึ้นวางดอกไม้จันทน์ และรับของที่ระลึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาเผาจริง หลังจากที่สัปเหร่อเปิดโลงศพให้ญาติดูหน้าตาเมฆเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็นำโลงศพตาเมฆเข้าเตาเผา ยายเมี้ยนภรรยาสุดที่รักของตาเมฆได้พูดขึ้นว่า “พี่ๆ ไปสู่ที่ชอบๆ เถอะนะ”

    ผู้อ่านฟังแล้วเข้าใจคำที่ยายเมี้ยนแกพูดกับสามีกันอย่างไรบ้าง บางคนบอกว่า “ที่ชอบๆ ในที่นี้ก็คือขอให้ผู้ตายไปยังสถานที่ที่ตัวเองอยากไป” บางคนบอกว่า “ให้ไปในที่ไม่มีทุกข์อีกแล้ว” ประเด็นนี้เองที่ทำให้เห็นถึงความเข้าใจของชาวบ้านยังไม่ตรงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอหลักการเรื่องนี้ไว้ ๒ ประเด็น คือ

    ๑. ความหมาย คำว่า “คติ” ในเรื่องนี้ หมายถึง ที่ไป หรือภพภูมิที่คนตายแล้วไปเกิด ซึ่งมีอยู่ ๒ ทางเลือก คือ (๑) สุคติ หมายถึง ทางไปหรือภพภูมิที่เกิดที่ดี มี ๒ ประการ คือ มนุษย์กับสวรรค์ การที่ยายเมี้ยนต้องการให้ตาเมฆที่ตายไปแล้วไปสู่ที่ชอบๆ นั้น หมายถึง แกต้องการให้ตาเมฆไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่งซึ่งเทวดาบางชั้นก็ยังไม่หมดความทุกข์ เพราะยังไม่ได้หลุดพ้น หรือต้องการให้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง (๒) ทุคติ หมายถึง ทางไปหรือภพภูมิที่เกิดที่ไม่ดี มีอยู่ ๔ ประเภท คือ นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย เป็นภพภูมิที่คนไม่ปรารถนาจะไปเกิด เพราะไม่มีความเจริญ มีแต่ความทุกข์ทรมาน

    ๒. แนวทางปฏิบัติเพื่อเข้าสู่สุคติ โดยหลักการแล้วมีหลายประการ แต่สรุปแล้วก็จะอยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง หรือใช้หลักการที่สรุปไว้ในโอวาทปาติโมกข์ ๓ ประการ คือไม่ทำความชั่ว ทำความดี และทำใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์ โดยเฉพาะประเด็นที่สามคือการพัฒนาจิตจนเกิดความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้เราพบกับสันติสุข ปราศจากความทุกข์อย่างแท้จริง จัดเป็นเรื่องที่หลุดพ้นไปจากสุคติและทุคติ

    จากหลักการที่กล่าวข้างต้น อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเรื่องคติได้ในระดับหนึ่ง ผู้อ่านที่ต้องการศึกษารายละเอียดขอให้ไปค้นคว้าหนังสือทางวิชาการที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอแนะนำหนังสือเรื่องหนึ่งที่คิดว่าจะให้รายละเอียดได้ดีคือหนังสือเรื่องมรณานุสติของหลวงพ่อปัญญานันทะ ภิกขุ

บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๗ : ข้าวหน้าโลงศพ : เอาไปตั้งให้ใครกิน?



หนูน้อยวัยไร้เดียงสาอายุ ๕ ขวบ เคล้าคลออยู่กับแม่ที่กำลังจัดแจงอาหารใส่สำรับเพื่อนำไปบูชาสามีที่นอนแน่นิ่ง ไร้ลมหายใจอยู่ในโลงศพ ด้วยความสงสัยลูกสาวผู้ไร้เดียงสาจึงถามผู้เป็นแม่ว่า “แม่เอาข้าวไปให้ใครกิน” แม่ตอบลูกว่า “ก็เอาไปให้พ่อของหนูกินไง” ลูกสาวถามขึ้นอีกว่า “ทำไมพ่อไม่มากินข้าวกับ เราเล่าแม่” ผู้เป็นแม่ชักน้ำตาซึม ทำท่าน้ำตาจะไหลอาบแก้มอีก ไม่รู้จะตอบลูกอย่างไร จึงตอบไปว่า “พ่อเขาไม่ว่างลูก” ลูกสาว ผู้ช่างสงสัยถามต่อไปอีกว่า “แล้วพ่อเขาไปไหนเล่าแม่” ผู้เป็นแม่ตอบเพื่อให้เรื่องมันจบลงว่า “พ่อไปสวรรค์จ้ะ”

หยุดเรื่องนำไว้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ผู้เขียนน้ำตาจะไหลแทน ผงมันเข้าตานะ ไม่มีอะไรหรอก ประเด็นเรื่องการนำข้าวไปตั้งไว้หน้าโลงศพผู้ตายนั้น มีการเข้าใจผิดกันว่าเพื่อให้ผู้ตายได้กิน เรื่องนี้ถ้าท่านเป็นนักสังเกตจะเห็นว่าอาหารที่นำไปไว้หน้าโลงศพนั้นไม่แหว่งเลย ไม่เห็นมีใครสักคนที่ตายไปแล้วลุกมากินข้าวได้ ถ้ามีพระที่นั่งอยู่บนอาสนสงฆ์คงวิ่งหนีก่อนโยมเป็นแน่ มีแต่แมวกับหมาเท่านั้นที่มักมาแอบกิน มีประเด็นที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทราบเพิ่มเติมหลายประการ แต่ขอสรุปไว้ ๓ เรื่อง คือ

๑. คนไทยเรานับถือผีสาง นางไม้มาก่อน มีความเชื่อว่าคนเราเวลาตายวิญญาณจะออกจากร่าง และวิญญาณนี่เองที่มีหลายคนเข้าใจว่า ผี ซึ่งไม่ตรงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นเมื่อคนตายแล้วจึงต้องทำการเซ่นดวงวิญญาณเหมือนกับการเซ่นผีสาง นางไม้นั่นเอง

๒. การสอนจริยธรรมคือความกตัญญู กตเวทีแก่ญาติของคนตาย ให้ระลึกถึงคุณความดีของผู้ตาย ตามหลักการทางพระพุทธศาสนาเรื่องทิศ ๖ ที่กล่าวถึงหน้าที่ของบุตรที่จะต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่ไว้ในข้อที่ ๕ คือเมื่อท่านตายแล้วต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่าน หลักการนี้มิได้จำกัดเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่เท่านั้น คนอื่นๆ ที่ตายก็ต้องปฏิบัติทำนองนี้เหมือนกัน แต่ที่เห็นว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือถ้าเรารู้ว่าใครเป็นที่รัก มีบุญคุณต่อเรา การที่เราจะตอบแทนคุณหรือความดีของคนนั้นก็ควรที่จะตอบแทนเสียในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เขาตายแล้วจึงเอานั่น เอานี่ไปให้กิน มันสายไปแล้วละท่านทั้งหลายเอ๋ย

๓. การสอนให้คนเห็นสัจธรรม ที่ว่าคนตายไปแล้วหมดโอกาสที่จะทำเรื่องต่างๆ ในโลกนี้ไปแล้ว โดยดูจากการที่ญาติเอาอาหารดีๆ อาหารโปรดไปวางไว้ก็ยังลุกมากินไม่ได้เลย กรณีอื่นๆ ก็เช่นกัน เช่น ญาติไปเคาะโลงศพให้ผู้ตายมากราบพระ รับศีล ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระแสดงธรรม ทำได้ที่ไหนละครับ เพราะฉะนั้น ใครที่คิดว่าชีวิตมีค่า ก็ควรสร้างค่าให้แก่ชีวิตด้วยความดีเสียในขณะที่ยังมีลมหายใจนะครับ หมดลมหายใจก็เท่ากับหมดโอกาส ไว้แก้ตัวกันในชาติหน้าก็แล้วกัน

จะเห็นว่าการที่บรรพบุรุษของเราสอนให้ญาตินำเอาข้าวไปวางไว้หน้าโลงศพคนตายมีความหมายมากกว่าการเอาไปตั้งไว้ให้ผู้ตายได้กินที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นโปรดเข้าใจให้ถูกต้องนะครับ
หากท่าน ต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๖ : ขันธ์ : มันคืออะไรกันแน่?


ณ วงเหล้าร้านตาคำ หนุ่มวัยฉกรรจ์ ๕ คน กำลังถองเหล้าขาวกับมะขามเปียกกันอย่างได้ที่ นายอินพูดขึ้นมาว่า “เมื่อวานกูไปฟังเทศน์ที่วัดมา หลวงตาคงแกเทศน์เรื่องขันธ์ว่ะ ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่า ขันธ์มันคืออะไร พวกมึงรู้ไหมว่าขันธ์มันคืออะไรกันแน่” 

นายนาพูดขึ้นมาทันทีว่า “โถ ! จะไปยากอะไร ขันก็คือภาชนะที่ตักน้ำกินอย่างไงเล่าไอ้โง่ บ้านมึงไม่มีขันตักน้ำกินหรือไง หรือใช้แต่กะลาวะไอ้อิน” 

นายอยู่พูดขึ้นมาบ้างว่า “พวกเองไม่เข้าใจ ขันเนี่ยะมันแปลได้หลายอย่าง ที่ไอ้นามันบอกก็ใช่ แต่ขันมันยังหมายถึง คำที่เป็นกิริยาด้วยนะมึง (ชักเล่นวิชาการ) เช่น ไก่ขันอย่างไรละ มึงไม่เคยได้ยินกันหรืออย่างไร หรือไก่พวกเอ็งไม่ขันตอนเช้าวะ ถ้าอย่างนั้นพวกเอ็งเอาไก่ไปปล่อยที่วัดได้แล้ว” (นายอยู่แกพูดมีนัย) สรุปแล้วธัมมสากัจฉา (การสนทนาธรรม) ในวงเหล้าไม่ได้ข้อสรุปอะไร 

    จากตัวอย่างของการสนทนาธรรมในวงเหล้าข้างต้นจะเห็นว่ามีการเข้าใจผิด จากคำว่า “ขันธ์” แต่ฟังผิดเป็นคำว่า “ขัน” ทำให้สื่อความหมายไปคนละทิศละทาง เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้ ผู้เขียนขออธิบาย คำว่า “ขันธ์” ไว้เป็น ๒ ความหมาย คือ

    ๑. ขันธ์ หมายถึง ส่วนที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต เข้าใจว่าผู้อ่านคงได้ยินคำพูดที่ว่า “ชีวิตคนเราประกอบด้วยขันธ์ ๕” หมายความว่า ส่วนที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตของคนมีอยู่ ๕ ประการ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรียกสั้นๆ ว่า รูปกับนาม องค์ประกอบคือรูปจัดเป็นรูปหรือส่วนที่เป็นร่างกายทั้งหมด (สสาร) องค์ประกอบคือเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จัดเป็นนาม คือสภาวะที่ไม่มีรูปร่าง ตัวตน (อสสาร) คิดว่าคงทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้ขึ้นมาบ้างนะครับ
    ๒. ขันธ์ หมายถึง หมวด ผู้อ่านคงได้ยินคำพูดที่ว่า “หลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์” ขันธ์ในประเด็นนี้ มุ่งไปที่หัวข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ โดยสรุปมีอยู่ ๕ หมวด คือ (๑) หมวดศีล เช่น ปาติโมกขสังวร กายสุจริต สัมมาวาจา เป็นต้น เรียกว่า “สีล-ขันธ์” (๒) หมวดสมาธิ เช่น สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นต้น เรียกว่า “สมาธิขันธ์” (๓) หมวดปัญญา เช่น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น เรียกว่า “ปัญญาขันธ์” (๔) หมวดวิมุตติ เช่น วิราคะ วิสุทธิ นิพพาน เป็นต้น เรียกว่า “วิมุตติขันธ์” (๕) หมวดวิมุตติญาณทัสสนะ เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เรียกว่า “วิมุตติญาณทัสสนขันธ์” 

    คำสอนของพระพุทธเจ้าแม้แต่จะมีมากเพียงใดก็ตาม ถ้าสรุปลงก็อยู่ในไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา และรวมลงเหลือเพียงหนึ่งเดียวคือความไม่ประมาท 
บทความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๕ : ขันติ : อดทนอย่างไรถึงจะถูกต้อง?


เช้าวันหนึ่งนายกระโดนตะโกนลั่นทุ่งว่า “ขันติโว้ย ขันติๆ” พาเอาเพื่อนฝูงตกอกตกใจ บางคนพูดว่า “แหม! วันนี้ไอ้กระโดนเล่นธรรมะแต่เช้าเชียว” ทิดแดงนักบวชเก่าอดสงสัยไม่ได้จึงถามขึ้นว่า “ไอ้กระโดน ไอ้ขันติที่แกพูดเนี่ยะ มันหมายความว่าอะไรวะ”  

นายกระโดนชักไม่พอใจ คิดว่าทิดแดงลองภูมิ จึงตอบไปว่า “แหม! ทิดก็น่าจะรู้นะว่าขันติมันแปลว่าอะไร ถ้าไม่รู้ก็นับว่าบวชเปลืองข้าววัด รู้แล้วแกล้งทำมาลองภูมิ เดี๋ยวพัดหลังมือซะนี่” นายกระโดนแกเล่นแรง สรุปว่า การสนทนาของคนทั้งสองยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างนั้นผู้เขียนขอสรุปให้เองก็ได้ การที่นายกระโดนแกร้องขันติโว้ย ขันติๆ น่ะ เพราะแกถูกเมียด่าแต่เช้ามืด ด่าตอนไหนก็ไม่ด่า มาด่าตอนกำลังโก่งตูดนอนอยู่อย่างสบาย จะไม่ให้เมียแกด่าได้อย่างไร ก็แกเล่นกินเหล้าเมาตั้งแต่หัวค่ำจน ๒ โมงเช้า (๐๘.๐๐ น.) ก็ยังไม่ตื่น เพื่อนบ้านพากันจูงควายออกไปไถไร่ไถนาได้เป็นไร่ๆ แล้ว 

นี่คือสาเหตุที่เมียแกด่า แต่นายกระโดนไม่กล้าหือกับเมียแกหรอก เพราะแกเป็นคนกลัวเมียอย่างกับหนูกลัวแมประมาณนั้น ขนาดเมียแกใช้ให้ซักผ้า แกยังโดดถีบเอาเสียเลย (ถีบจักรยานไปซื้อแฟ็บมาซักผ้าจ้า) ข้อดีของแกก็คือเวลาเมียแกด่าทีไร แกจะไม่โต้ตอบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม คงรู้ตัวเองว่าผิดนะซิ อย่างมากแกก็จะตะโกนออกมาว่า “ขันติ ขันติโว้ย”

    จากตัวอย่างจะเห็นการใช้ขันติเพื่อสร้างความงดงามให้แก่ตัวเองของนายกระโดน แต่มีอีกหลายกรณีที่ชี้ให้เห็นว่าคนใช้คุณธรรมข้อนี้อย่างไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น

    ตัวอย่างที่หนึ่ง นายเหี้ยมหาญ ฉายามือปืนร้อยศพ ใช้ความอดทน (ขันติ) อย่างสูงในการดักรอเพื่อที่จะยิงนายตี๋เล็กหัวคะแนนของนายโตผู้สมัครรับเลือกตั้งกำนันตำบลมะกอกขม เขาใช้ความเพียรพยายามและความอดทนดักรออยู่ ๗ วัน จึงฆ่านายตี๋เล็กได้สำเร็จ

    ตัวอย่างที่สอง นายอดโซ จอมลักเล็กขโมยน้อย เป็นนักย่องเบาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอย่างมาก วันหนึ่งเขาใช้ความพยายามและความอดทนเหม็นกลิ่นขี้หมู โดยการลุยเข้าไปในคลองระบายน้ำที่มีแต่น้ำขี้หมู เพื่อจะเข้าไปขโมยของที่บ้านตาสอน ในที่สุดมันก็ลักปั๊มน้ำที่บ้านตาสอนไปแลกยาบ้าจนได้



    จากตัวอย่างที่ยกมาทั้ง ๒ กรณี ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวแม้จะออกมาจากขันติ แต่เป็นพฤติกรรมที่เป็นอกุศลกรรมจึงเป็นเรื่องที่ผิดจากหลักการทางพระพุทธศาสนา สรุปก็คือบุคคลตัวอย่างได้ใช้ธรรมที่ผิดไปจากหลักการ และเป็นการใช้ธรรมอย่างขาดปัญญา เพราะมองไม่เห็นโทษที่จะเกิดขึ้นกับตนและบุคคลอื่น นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เรื่องความอดทนต้องใช้ในเรื่องที่ดีงาม สร้างสรรค์จึงจะถูกธรรม

บทความที่ผมนำมาลงนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ  

วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๔ :กรุณา : สงสารอย่างไร จึงจะถูกต้อง เป็นธรรม?


เย็นวันหนึ่งพ่อแม่ลูกครอบครัวหนึ่งกำลังกินข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อยท่ามกลางแสงตะเกียงน้ำมันก๊าด ตามาผู้เป็นพ่อพูดขึ้นกับนายน้อยลูกชายว่า “พ่อสงสารเอ็งเหลือเกินที่ต้องมาลำบากตั้งแต่ตัวเล็กๆ พ่อคิดว่าจะส่งเอ็งไปบวชเรียนเหมือนอย่างไอ้สมชายลูกตาช่วย มันก็บวชเรียนจนจบปริญญาโท สึกออกมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เองคิดอย่างไรหรือไอ้น้อย” นายน้อยตอบว่า “แล้วแต่พ่อกับแม่ก็แล้วกัน”  

ยายมดผู้เป็นแม่พูดเสริมขึ้นมาบ้างว่า “จะแล้วแต่พ่อกับแม่ได้อย่างไร มันเป็นเรื่องอนาคตของเอ็งนะไอ้น้อย” 

นายน้อยจึงพูดว่า “ผมเป็นห่วงพ่อกับแม่จะลำบาก จะทำนาไหวหรือ” 

ตามากับยายมดพูดขึ้นพร้อมกันด้วยเสียงหนักแน่นว่า “เอ็งไม่ต้องห่วงพ่อกับแม่หรอก พ่อกับแม่ยังทำไหว ถ้าเอ็งไปบวชจริงๆ พ่อกับแม่ก็ทำแต่น้อยๆ ขอให้เอ็งบวชแล้วตั้งใจเรียนจริงๆ เถอะ” 

นายน้อยจึงพูดว่า “ถ้าพ่อแม่เห็นดีและคิดว่ายังทำนาไหว ผมก็จะบวชเรียน ผมรับรองว่าจะไม่ทำให้พ่อกับแม่ผิดหวัง คอยดูนะผมจะต้องเป็นมหาเปรียญ ๙ เหมือนอย่างทิดสมชายให้ได้และผมจะเอาด๊อกเตอร์มาฝากพ่อกับแม่ด้วย” 

สองผัวเมียพูดขึ้นพร้อมๆ กันทันทีว่า “พอๆ เถอะไอ้น้อย เอ็งอย่าเพิ่งฝันเฟื่องไปยกใหญ่เลย รอให้เอ็งไปเรียนและทำให้ได้เสียก่อนเถอะแล้วค่อยคุย อย่างไรพ่อกับแม่ก็ขอให้เอ็งทำให้เต็มที่ด้วยความตั้งใจก็พอ ส่วนมันจะได้แค่ไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” 

    การสนทนาในวงข้าวของครอบครัวนี้จบลงและได้สาระเป็นอย่างดี และในที่สุดนายน้อยก็ได้บวชเป็นสามเณรเรียบร้อยไปแล้ว ไม่รู้ว่าป่านนี้ จะทำได้อย่างที่พูดไว้กับพ่อแม่หรือเปล่า

    จากเรื่องข้างต้นนี้ ผู้อ่านคงจะเห็นความรักของพ่อแม่ (เมตตา) และความสงสาร (กรุณา) ที่มีต่อลูก ไม่อยากให้ลูกต้องลำบากตรากตรำอยู่กับไร่กับนา ต้องการให้ลูกมีอนาคตที่ดี แม้ว่าตัวเองจะยากจน แต่ก็พยายามหาอนาคตที่ดีให้แก่ลูก โดยการพึ่งใบบุญร่มผ้ากาสาวพัตร์ ให้ลูกได้บวชเรียน แต่คุณธรรมของพ่อแม่ข้อนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ถ้าพ่อแม่หรือใครก็ตามขาดปัญญา ขอให้ดูตัวอย่างต่อไปนี้

    ตัวอย่างที่หนึ่ง คุณสมจิตร เป็นคนที่รักลูกมาก ลูกจะเอาอะไรก็พยายามหามาให้ทุกอย่าง ไม่เคยขัดใจ ผลสุดท้ายลูกกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ใครทำอะไรไม่ถูกใจเป็นแผดเสียงดังลั่น วันหนึ่งลูกชายแกไปมีเรื่องกับโจ๋หน้าปากซอยแล้วใช้อาวุธปืนยิงฝ่ายตรงกันข้าม แต่ลูกกระสุนปืนดันพลาดไปถูกคนงานก่อสร้างที่กำลังรับประทานก๋วยเตี๋ยวตายคาชามก๋วยเตี๋ยว ด้วยความรัก ความสงสารลูก กลัวลูกจะติดคุก (เมตตา กรุณา) คุณสมจิตรพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกพ้นจากความผิด จากตัวอย่างนี้คุณสมจิตได้ใช้คุณธรรมข้อนี้ผิดไปจากหลักการทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม

    ตัวอย่างที่สอง สมบัติรักสมควรเพื่อนซี้คนนี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดบอกใครต่อใครว่า “เขาสามารถตายแทนเพื่อนคนนี้ได้” วันหนึ่งสมควรไม่มาเรียน และวันนั้นเป็นวันที่ครูออกแบบทดสอบให้นักศึกษาทำเพื่อเก็บคะแนน ด้วยความรักและสงสารเพื่อน กลัวเพื่อนจะไม่มีคะแนน และอาจจะทำให้สอบตกในรายวิชาดังกล่าวได้ สมบัติจึงทำแบบทดสอบให้สมควรด้วยอีกหนึ่งฉบับ ตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นว่า การใช้กรุณา ความสงสารเพื่อนของสมบัติเป็นเรื่องที่ผิดจากหลักการทางพระพุทธศาสนา ที่ถูกต้องสมบัติจะต้องใช้ความกรุณาด้วยการโทรศัพท์ไปเตือนให้เพื่อนมาเรียนและทำแบบทดสอบด้วยตัวเอง ถ้าทำถึงที่สุดแล้วเพื่อนก็ไม่มาเรียนก็ต้องใช้หลักอุเบกขาธรรมคือวางเฉยเพื่อให้เกิดความชอบธรรมแล้วก็ค่อยๆ หาวิธีการช่วยเหลือให้เขากลับตัว กลับใจมาสนใจการเรียนให้มากขึ้น ดังนั้น มนุษย์ผู้หวังความถูกต้องเป็นธรรม จำเป็นต้องมีปัญญาในการพิจารณาว่าการใช้คุณธรรมข้อนี้อย่างไรจึงจะถูกต้อง อย่างไรผิด ก็จะช่วยให้เราใช้หลักธรรมได้อย่างสร้างสรรค์ ดีงาม เมื่อนั้นโลกของเราจะมีความชอบธรรม ความยุติธรรมมากขึ้น

บทความที่ผมนำมาลงนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ  

เรื่องที่ ๓ : กรวดน้ำ ต้องใช้น้ำกรวดเท่านั้นหรือ?


บ่ายคล้อยวันหนึ่ง อากาศกำลังอบอ้าวด้วยไอร้อน แต่ดูเหมือนว่าหนุ่มเคล้าไม่กลัวความร้อน เพราะร่างกายของแกถูกเติมความร้อนเข้าไปด้วยเหล้าขาว เดินตุปัดตุเป๋ คดไปคดมา ชาวบ้านต่างพากันใจคอไม่ดี เพราะกลัวแกจะตกคลองหรือคันนาไปจมน้ำตาย ในขณะที่ทุกคนต่างใจจดใจจ่ออยู่นั้น หนุ่มเคล้าก็ครวญเพลงสามหัวใจเสียงลั่นทุ่งว่า “กรวดน้ำ คว่ำขัน รักกันชาติเดียว ร้างเกลียวสวาท…”

    ชาวบ้านต่างพากันโล่งอกโล่งใจไปตามๆ กัน หลังจากที่หนุ่มเคล้าสร่างเมาแล้ว หนุ่มแหวนก็เลยถามเพื่อนว่า “เอ็งจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ใครวะไอ้เคล้า” หนุ่มเคล้าตอบเพื่อนทันทีว่า “จะใครเสียอีกล่ะ ก็อีทองหยอดไงเล่า” หนุ่มแหวนสงสัยจึงถามว่า “อ้าว! อีทองหยอดมันตายตั้งแต่เมื่อไรวะ กูไม่ยักรู้เรื่องเลย” หนุ่มเคล้าตอบว่า “มันไม่ตายหรอก แต่มันไปมีแฟนใหม่อยู่ที่กำแพงเพชรนะซิ กูเลยต้องกรวดน้ำ คว่ำขัน อธิษฐานจิตว่าไม่ขอเจอกับมันอีกไม่ว่าชาติไหนๆ”

    กรณีการกรวดน้ำของหนุ่มเคล้าข้างต้นเกิดจากการเข้าใจผิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความจริงแล้ว การกรวดน้ำเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลที่ตายไปแล้ว จากตัวอย่างข้างต้นนี้ ผู้เขียนขอยกเรื่องความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องต่อเรื่องนี้ไว้เป็นกรณีศึกษา ๕ ประเด็น คือ

    ๑. การกรวดน้ำเพื่อขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตัวอย่างการกรวดน้ำของนายเคล้าเป็นการอธิษฐานเพื่อไม่ให้พบเจอกับสาวทองหยอดที่หักอกตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากการกรวดน้ำมิใช่เป็นการอธิษฐานขอนั่น ขอนี้จากส่วนบุญที่ตนได้กระทำ แต่เป็นเรื่องของการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์

    ๒. การกรวดน้ำต้องใช้น้ำเท่านั้น ถ้าไม่มีน้ำ ใช้ไม่ได้เป็นการเข้าใจผิด ความจริงน้ำได้ถูกนำมาเป็นสื่อในการอุทิศส่วนกุศล จึงได้ชื่อว่า “กรวดน้ำ” แต่ตามหลักของการอุทิศส่วนบุญเป็นเรื่องของกุศลจิตที่เปี่ยมด้วยความสุขที่เกิดจากบุญและความต้องการที่จะให้บุญกุศลที่เราได้รับถึงบุคคลอันเป็นที่รักหรือคนที่เราเคยรู้จักมักคุ้นที่ตายไปแล้ว ดังนั้นจะมีน้ำหรือไม่มีก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียหาย อยู่ที่เจตนาของเราเป็นหลัก ถึงมีน้ำกรวด แต่จิตไม่ได้อยู่กับคำกรวดน้ำหรือสิ่งที่ตนกำลังกระทำ หรือในขณะที่กรวดน้ำ จิตใจขุ่นมัว ไม่ผ่องใส คิดโน่นคิดนี่ อย่างนี้ก็ไม่สมบูรณ์ สรุปการกรวดน้ำเป็นเรื่องของเจตนาที่ดี ในขณะที่กรวดน้ำเราต้องทำใจให้ผ่องใส แน่วแน่ แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่คนที่เราต้องการอุทิศให้ อย่างนี้ก็สมบูรณ์เอง จะมีน้ำหรือไม่มีก็ได้ ภาษาทางบ้านผมเรียกการกรวดน้ำที่ไม่ต้องใช้น้ำกรวดว่า “กรวดน้ำแห้ง”

    ๓. กรวดน้ำต้องกรวดตอนที่พระยะถาเท่านั้น ถ้าไม่ทำตรงนี้ถือว่าผิด ในข้อที่ ๒ ผู้อ่านคงเข้าใจความหมายและวิธีการของการกรวดน้ำไปแล้ว จะเห็นว่าการกรวดน้ำเป็นเรื่องของเจตนาที่เป็นกุศล ถ้าพิจารณาในประเด็นนี้ก็จะพบข้อสรุปสำหรับเรื่องนี้คือการกรวดน้ำในขณะที่พระว่า ยะถาเป็นเรื่องของพิธีการที่ทำกันตามแบบแผนดั้งเดิม ตั้งแต่พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์อินเดียในยุคพุทธกาล แต่ในบางแห่งพบว่าการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้พระว่ายะถาก็ได้ ดังนั้นท่านจะกรวดน้ำตอนไหนก็ได้ ถ้าท่านสะดวก เพราะพระบางวัดที่ไปรับบิณฑบาต ท่านก็ไม่ได้ให้พรโยม โดยส่วนใหญ่
ผู้ตักบาตรก็มักอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลที่ต้องการอุทิศให้หลังจากที่พระรับบิณฑบาตไปแล้ว อาจเป็นการอุทิศให้ตรงที่ตักบาตรหรือกลับมากรวดน้ำที่บ้านก็ได้

    ๔. ผู้ตายจะได้รับส่วนบุญกุศลที่เราอุทิศให้หรือไม่ ตามหลักการผู้ที่จะได้รับบุญกุศลที่เราอุทิศให้นั้นมีจำพวกเดียวเท่านั้นคือเปรต ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า “เปรตขอส่วนบุญ” นะครับ นอกจากนี้ไม่ได้รับ เพราะเทวดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉานมีอาหารจำเพาะของตนอยู่แล้ว ส่วนสัตว์นรกและอสุรกายมีผลกรรมชั่วที่ต้องชดใช้เป็นอาหาร

    ๕. ถ้าผู้ตายไม่ได้รับแล้วบุญกุศลที่เราอุทิศให้นั้นไปอยู่ที่ไหน ผลบุญที่เราอุทิศให้แก่ผู้ตายที่ไปเกิดในภพภูมิอื่นที่ไม่ใช่เปรตก็จะตกอยู่กับผู้รับ เพราะบุญกุศลเป็นเรื่องของความดี ใครจะได้รับหรือไม่นั้น ความดีก็ยังเป็นของผู้กระทำ ความดีนี้แปลกอยู่อย่างหนึ่งครับ คือยิ่งให้ยิ่งได้
    จากตัวอย่างที่นำเสนอมาจะเห็นว่าเรื่องนี้ยังมีการเข้าใจผิดที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ถือปฏิบัติตามๆ กันมาโดยปราศจากการศึกษา เรียนรู้ อย่าลืมว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ไม่ใช่ศรัทธาเพียงอย่างเดียว เป็นศาสนาที่เน้นให้ศาสนิกเรียนรู้ทำความเข้าใจหลักคำสอนและปฏิบัติตาม ตลอดกระทั่งเผยแผ่หลักคำสอน ส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาอย่างถูกต้องด้วย

บทความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๒ : กรรม ผลร้ายในอดีตใช่หรือไม่?


วันหนึ่งชาวบ้านดอนมะเขือต่างพากันจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตายของนายสอนไม่จำที่ถูกมือมืดใช้ปืนแก๊บยิงหัวกระจุย นอนตายอยู่กลางถนนพร้อมกับพระเครื่องเต็มคอ ชาวบ้านที่พากันมามุงดูบางคนพูดว่า “พระหนีไปไหนหมด ทำไมไม่มาช่วยปัดลูกปืนให้มัน” ชาวบ้านอีกคนพูดว่า “สงสัยพระจะเกี่ยงกัน เห็นมันคล้องพระหลายองค์เหลือเกินนี่” ชาวบ้านอีกคนพูดขึ้นมาบ้างว่า “มันเป็นกรรมของมัน พระที่ไหนจะอยู่คุ้มครองคนชั่วๆ แบบนี้ ตายเสียได้ก็ดี แผ่นดินจะได้สูงขึ้น” (แนะ! มีการแช่งเสียด้วย เวลามันยังไม่ตายไม่ยักจะพูด คงกลัวมันเตะเอานะซิ) คำพูดของคนที่สาม ฟังดูแล้วน่าสนใจ อ่อ! ลืมบอกไปว่าเจ้าสอนไม่จำมันมีพฤติกรรมอย่างไร สรุปสั้นๆ ก็แล้วกันนะครับ นายสอนไม่จำเป็นนักเลงขาใหญ่ จะใหญ่แค่ไหนไม่บอก เอาว่ามันชอบทำตัวเป็นนักเลงอันธพาล ประเภทตีหัวหมา ด่าแม่ชาวบ้าน โดยเฉพาะตอนที่มันเมา อะไรขวางหน้าเป็นถูกเตะ ขนาดหมาในหมู่บ้านพอเห็นนายสอนไม่จำเดินมายังหลบ ไม่กล้าสบตาเลยครับ พฤติกรรมของมันเป็นที่อิดหนาระอาใจของชาวบ้านทั่วไป ไม่มีใครสามารถสั่งสอนมันได้ แม้กระทั่งพ่อแม่ของมันยังถูกมันเตะเลย นี้คือพฤติกรรมที่แสนเลวของมัน

    ยกตัวอย่างเรื่องกรรมหรือการกระทำไว้พอสังเขป ต่อไปนี้ก็เข้ามาสู่ประเด็นที่เห็นว่ามักจะเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา ๓ เรื่อง คือ

    ๑. การมองผลของกรรมเป็นตัวกรรม เนื่องจากคำว่า “กรรม” มักจะถูกพูดรวมๆ กันไว้ ทั้งกรรมและวิบาก จากประเด็นเรื่องการตายของนายสอนไม่จำข้างต้นที่ชาวบ้านคนหนึ่งพูดว่า “มันเป็นกรรมของมัน” ชี้ให้เห็นว่า มีการเข้าใจผิด มองผลกรรมเป็นเรื่องกรรม ที่ถูกต้องควรพูดว่า “มันเป็นผลกรรมของมัน” ผู้อ่านต้องแยกแยะให้ออกระหว่างกรรมกับวิบาก (ผลกรรม) การที่นายสอนไม่จำประพฤติตนเป็นนักเลงอันธพาลเที่ยวด่าหรือทำร้ายคนอื่น แม้กระทั่งพ่อแม่ของตนเป็นเรื่องของกรรม (การกระทำ) การถูกลอบยิงตายโดยคนที่ไม่พอใจในพฤติกรรมของเขาเป็นเรื่องของวิบาก (ผลกรรมชั่วที่เขาทำ ซึ่งได้รับในโลกนี้)

    ๒. การมองกรรมเป็นผลร้ายจากอดีต ส่งผลให้ชีวิตหยุดนิ่ง ตัวอย่างเช่น นายดำบ่นให้เพื่อนบ้านฟังว่า “ชาตินี้ข้าเกิดมามีกรรม มีลูกก็ไม่ได้ดังใจ มีเมียๆ ก็มีชู้ เลี้ยงหมูๆ ก็ตายหมดคอก” แกจึงใช้ชีวิตจมปลักอยู่กับน้ำเปลี่ยนนิสัยทั้งวัน ปัจจุบันแกต้องไปอาศัยวัดอยู่แล้วครับ เพราะทรัพย์สมบัติ ถูกแม่โขงเอาไปกินหมด ผมลืมบอกถึงพฤติกรรมของนายดำไป ความจริงแกเป็นคนที่มีฐานะมีอันจะกินคนหนึ่ง แต่ตอนหลังแกไปคบเพื่อนที่ไม่ดี เพื่อนก็เลยชวนไปกินเหล้า ผลสุดท้ายติดเหล้างอมแงม งานการไม่ยอมทำ ไม่ยอมรับผิดชอบต่อครอบครัว บางครั้งพาลหาเรื่องลูกเมีย จนลูกอยู่บ้านไม่ติด พาลเกเรไปอีกคนหนึ่ง เมียทนพฤติกรรมนักมวยของมันไม่ไหว ไม่ยอมอยู่เป็นกระสอบทรายให้มันซ้อมอีกต่อไป เลยหนีไปหาผัวใหม่ให้มันรู้เรื่องไปเลย อย่างนี้จะไปโทษผลกรรมในชาติที่แล้วอย่างไร มันต้องโทษพฤติกรรมของตัวเองในปัจจุบันจึงจะถูกต้อง

    ๓. การประเมินผลกรรมที่ตัววัตถุ ตัวอย่างเช่น คุณสมทรง พนักงานบริษัทศรีสงัด บ่นกับเพื่อนร่วมงานว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” คุณแตงกวาเลยย้อนถามมาว่า “อ้าว! ทำไมจึงพูดอย่างนั้น” คุณสมทรงตอบทันควันว่า “จะไม่ให้ฉันพูดอย่างนี้ได้อย่างไร ฉันทำงานมาด้วยความรับผิดชอบ ขยัน ไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่เคยลางาน ไม่เคยขาดงาน พวกเธอก็รู้ แต่ทำไมเงินเดือนฉันจึงขึ้นแค่ขั้นครึ่งเอง (จะเอาสองขั้น) ผิดกับอีแหวว ทำงานก็ไม่ได้เรื่อง ขาดงานก็บ่อย วิ่งออกวิ่งเข้าห้องเจ้านายประจำ มันได้ขึ้นเงินเดือนตั้งสองขั้น มันไม่มีความยุติธรรมนี่หว่า แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ฉันคิดว่าทำดีไม่ได้ดีได้อย่างไร” 


    สรุปว่าคุณสมทรงกำลังประเมินผลกรรมที่วัตถุภายนอกที่เป็นรูปธรรม ความจริงเรื่องกรรมดี กรรมชั่วในทัศนะพระพุทธศาสนา ไม่ได้ประเมินที่วัตถุภายนอกเพียงด้านเดียว ส่วนที่สำคัญคือการประเมินที่จิตใจของคน เนื่องจากกรรมเป็นผลมาจากจิต ดังสำนวนไทยที่ว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” ความดีหรือกรรมดีมีพื้นฐานมาจากจิตที่ดี เรียกว่า “กุศลจิต” การทำดีจึงดีตั้งแต่เริ่มคิด รู้สึกแล้ว ยิ่งลงมือกระทำดีอย่างถูกต้อง สมบูรณ์แล้วก็ยิ่งดียิ่งขึ้น ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากมีเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะเงื่อนไขของโลกปุถุชนที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส อาจทำให้ผลที่เราตั้งไว้ ไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้

    เรื่องกรรมและผลกรรมเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ยิ่งพูดถึงกรรมเก่าในอดีตชาติให้คนรุ่นใหม่ฟัง คงทำให้เขาเชื่อได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยเหตุการณ์ในปัจจุบันชี้ให้เขาเห็นถึงผลดีของการทำดี และผลเสียของการทำชั่วทั้งในอดีตที่ผ่านมา ทั้งที่กำลังเกิดขึ้น และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ที่สำคัญเรื่องนี้คงต้องใช้ปัญญากันให้มากหน่อยนะครับ อย่าเพิ่งด่วนสรุปหรือเชื่อเรื่องต่างๆ โดยที่ยังไม่ทันไตร่ตรอง ตรวจสอบความถูกต้องเป็นเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกใครหลอกให้ไปเข้าพิธีตัดเวร ตัดกรรมในสำนักของเจ้าลัทธิบางคนที่เก่งกว่าพระพุทธเจ้า สามารถตัดเวร ตัดกรรมของคนอื่นได้หมด ยกเว้นแต่เวรกรรมของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราเสียเงิน เสียทองไปโดยใช่เหตุหรืออาจจะเสียอย่างอื่นมากกว่านั้นก็อาจเป็นได้

หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ 

เรื่องที่ ๑ : กตัญญู กตเวที ตอบแทนคุณอย่างไร...จึงจะถูกต้อง?


ตาสีด่าลูกชายของแกที่ทำตัวเหลวไหล งานการไม่ยอมทำ วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ ประเภทบ่ายคล้อยเป็นลากหางออกจากบ้าน กลับมาอีกทีก็เช้า กินข้าวแล้วก็นอนว่า “ไอ้ลูกอกตัญญู ไม่เอาเยี่ยงอย่างลูกชาวบ้านเขา มึงไม่อายไอ้ไข่ ลูกไอ้เขียนมันบ้างหรือไง มันตัวกะเปี๊ยก อ่อนกว่ามึงตั้ง ๕ ปี แต่มันทำงานช่วย

พ่อแม่มันตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต มึงเอาอย่างมันมาใช้สักนิดหนึ่งได้ไหมวะไอ้สัน…” (เติมเอาเองตามใจชอบนะครับผู้อ่าน อ๋อ! ผมลืมบอกไปว่าลูกชายตาสีแกชื่อไอ้สันต์ แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่าไอ้สันดาน...)

    ยกเรื่องตาสีกับลูกชายที่ยอดแย่ มาพูดเสียยาว เพราะต้องการหันเข้ามาหาคำว่า “กตัญญู กตเวที” คำนี้มีการเข้าใจผิดกันในหลายประเด็น ขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา ๒ ประเด็น คือ

    ๑. คนบางส่วนมักเข้าใจว่าคุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของคนที่ต้องปฏิบัติต่อคน เป็นคุณธรรมของผู้น้อยที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่หรือคนที่สำนึกในบุญคุณของผู้ใดผู้หนึ่งก็ต้องมีคุณธรรมข้อนี้ เช่น เด็กชายเหน่ง เด็กหญิงมีนา เซี่ยงหลิว ออกไปขายปลาท่องโก๋กับโอวัลตินแทนแม่ ดูแลแม่ที่เจ็บป่วย และหาเงินให้พ่อยอดแย่เอาไปกินเหล้าหมด ตัวอย่างเรื่องลูกชายตาสีที่ไม่รู้จักหน้าที่ของลูกที่ดี ไม่ยอมช่วยเหลือพ่อแม่ ไม่ทำตัวให้พ่อแม่สบายอก สบายใจ วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ กินแล้วก็นอน โบราณก็ถือว่าเป็นคนอกตัญญู อกตเวที เพราะไม่รู้จักบุญคุณและตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่

    ความจริงเรื่องกตัญญู กตเวทีนั้น มิได้จำกัดเฉพาะคนกับคนเท่านั้น เราสามารถนำมาใช้กับทุกสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่ให้ประโยชน์แก่เราทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ ตัวอย่างเช่น บรรพบุรุษไทยสอนให้ลูกหลานกราบไหว้แม่น้ำ ต้นข้าว แผ่นดิน และเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “แม่คงคา แม่โพสพ แม่ธรณี” เสมือนหนึ่งเป็นความเชื่อ แต่ถ้าพิจารณาแล้ว มันเป็นเรื่องของการปลูกฝังจริยธรรมคือความกตัญญู กตเวทีที่บรรพบุรุษไทยได้พร่ำสอนให้บุตรหลานสำนึกในบุญคุณของน้ำ ข้าว และแผ่นดิน และพยายามสอนให้เราตอบแทนบุญคุณของน้ำ ข้าว และแผ่นดินด้วยการใช้อย่างระมัดระวัง เช่น ไม่ทิ้งของเสีย ปัสสาวะ อุจจาระลงในแหล่งน้ำ ถ้าทำเป็นบาป กินข้าวต้องกินให้หมด อย่าให้หกเรี่ยเสียหาย อย่าทรยศต่อแผ่นดินเกิด เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าคุณธรรมข้อนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ

    ๒. เราต้องตอบแทนคุณคนที่มีพระคุณทุกกรณีโดยไม่มีข้อแม้ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ ประเด็นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอีกประการหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา ๒ ตัวอย่าง คือ

    ตัวอย่างที่หนึ่ง วันหนึ่งนายจงอางผู้ใหญ่บ้านหนองน้ำเขียว ประกาศกับชาวบ้านที่มาทำบุญที่วัดว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย กระผมมีเรื่องหนึ่งที่อยากให้พ่อแม่พี่น้องช่วยก็คือคุณสมชายได้เคยบริจาคเงินขุดสระน้ำ ทำถนนเข้าหมู่บ้าน สร้างห้องสมุดโรงเรียน และห้องน้ำที่วัดบ้านเรา เขาก็สร้างถวาย เขาเป็นคนที่มีบุญคุณต่อพวกเรามาก ตอนนี้ลูกชายของเขาคือคุณสมบุรุษได้สมัครเป็นส.ส. อย่างไรให้พวกเราช่วยลงคะแนนให้ลูกชายเขาที เบอร์ ๙๙ อย่าลืมนะพ่อแม่ พี่น้อง ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ทุกท่านให้ความร่วมมือ”

    ตัวอย่างที่สอง นายมากับนางมดพูดกับนางสาวละมุด ลูกสาววัย ๑๖ ว่า “พ่อแม่เลี้ยงดูเอ็งมาจนโตเป็นสาวแล้วนะ ตอนนี้ถึงเวลาที่แกจะต้องตอบแทนคุณพ่อแม่บ้างละ เนื่องจากพ่อแม่ก็อายุมากขึ้นทุกทีแล้ว พ่อกับแม่คิดว่าจะส่งเอ็งไปอยู่กับอีแววมัน (แม่เล้าที่เป็นคนบ้านเดียวกันที่เคยไปยึดอาชีพขายบริการทางเพศและหันมาเป็นแม่เล้าหาเด็กไปขายบริการทางเพศแทน) เอ็งเห็นไหม สาวๆ ในหมู่บ้านนี้ที่ไปทำงานกับอีแวว มันนำเอาเงินมาให้พ่อแม่มันปลูกบ้าน ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ซื้อทองหยองใส่ หน้าตายิ้มแย้มไปตามๆ กัน แถมอีสาวเหล่านั้นยังแต่งตัวด้วยผ้าใหม่ๆ มีข้าวของที่ทันสมัย ราคาแพงๆ ใช้กันอย่างสบาย เอ็งต้องทำนะ เพราะเอ็งเป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่” ในที่สุดสาวละมุดจำใจต้องทำตามที่พ่อแม่ขอร้องเพื่อตอบแทนพระคุณ

    จากตัวอย่างทั้ง ๒ เรื่อง เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดจากหลักธรรมข้อนี้ การตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณทั้ง ๒ กรณี เป็นเรื่องที่ผิดธรรม ไม่ถูกต้อง ในกรณีแรกเป็นการกระทำที่ขาดปัญญาของผู้ใหญ่ที่ไปร้องขอให้ชาวบ้านเลือกลูกชายของผู้มีบุญคุณต่อวัดและหมู่บ้านเป็นส.ส. อาจเป็นการสนับสนุนคนผิดให้เข้าไปสร้างปัญหาแก่ชาติบ้านเมืองได้ และเป็นการผิดธรรมเรื่องมุทิตา คือการสนับสนุน ยกย่อง ส่งเสริมคนดีให้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นผู้นำ ที่ถูกต้องผู้ใหญ่ต้องใช้อุเบกขาธรรม คือวางตัวเป็น

กลางทางการเมือง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่เขาจะต้องใช้ปัญญาในการเลือกสรรคนเข้าไปทำหน้าที่แทนเขาเอง กรณีที่สอง เป็นการร้องขอที่ผิดธรรมของพ่อแม่ข้อเมตตา กรุณา พ่อแม่ที่ดีต้องไม่ร้องขอให้ลูกตอบแทนคุณด้วยการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การกระทำดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่เห็นแก่ตัว ขาดความรัก ความสงสารลูก มองเห็นเฉพาะเรื่องความสุข ความมีหน้าตาทางสังคมที่ตนจะได้รับ แทนการตกนรกทั้งเป็นของลูกสาว กรณีเดียวกันนี้ ลูกก็อาจจะท้วงติงพ่อแม่ด้วยเหตุผล มิใช่ยอมทำตามเพราะเห็นว่าท่านมีพระคุณต่อเราในทุกเรื่อง เพราะนั่นเราก็กำลังทำผิดธรรมด้วย ตัวอย่างที่นำเสนอมานี้อาจทำให้ผู้อ่านเห็นว่า การใช้คุณธรรมข้อนี้จำเป็นต้องมีปัญญากำกับด้วยนะครับ

หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

จากใจนายอภิภู


หากเอ่ยถึงพุทธศาสนพิธี และสำนวนโวหารในภาษาไทยแล้ว คนไทยส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจความหมายและการปฏิบัติที่ถูกต้อง จนนำไปสู่ความเชื่อ ความเข้าใจอย่างผิดๆ มาโดยตลอดในเรื่องของการใช้คำไม่ตรงกับความหมาย และหลักการในพุทธศาสนพิธี เช่นคำว่า “คว่ำบาตร” จะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร ที่มาที่ไปมาจากไหน หรืออีกหลายๆ คำเช่น “กรวดน้ำ” “บังสุกุล” “ข้าวหน้าโลงศพ” “ธุดงค์” “เทวดา” “กรรม” “นรก” “บวช” “บัณฑิต” “นิพพาน” “น้ำมนต์” “บุญ” “สังฆทาน”  ความหมายของคำเหล่านี้ แม้กระทั่งผู้ที่เข้าวัดทำบุญเป็นประจำก็ยังเข้าใจกันผิดๆ มาโดยตลอด หรืออาจจะเข้าใจอย่างคลุมเครือ ไม่แจ่มแจ้ง

    “ร้อยแปดเรื่องครบเครื่องเรื่องเข้าใจผิด” ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรโชติ เกิดแก้ว (อาจารย์ผู้สอนวิชาการด้านพระพุทธศาสนาให้ผม) ได้หยิบยกวัฒนธรรม ประเพณีไทยมาอธิบายไว้อย่างละเอียด ถูกต้องประกอบกับเนื้อหาที่อ่านแล้วเพลิดเพลินไม่น่าเบื่อ ไม่เหมือนหนังสือวิชาการทั่วๆ ไป อ่านแล้วจะเข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี วิธีการทางพระพุทธศาสนาได้ชัดเจน ถูกต้อง
   
    อ่านเรื่องที่ผมรวบรวมมาแล้ว ผมต้องขอร้องให้ท่านอาจารย์นำศาสนพิธีอื่นๆ ซึ่งมีอีกมากมายมาเขียนเพิ่มเติมอีก เพราะคิดว่าแค่ ๑๐๘ เรื่องนั้นน้อยเกินไป ท่านลองอ่านเองสักสองสามเรื่อง รับรองว่าไม่ผิดหวัง...

   หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ