วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๙ : ฎีกา : ใบอะไรเอ่ย?

วันหนึ่งไอ้จุกวิ่งหน้าตั้งเอาใบอะไรก็ไม่รู้มาให้นายมะละกอผู้เป็นพ่อของตนแล้วบอกว่า “ตามะกอก ทายกวัดโค้งมะขามฝากมาให้พ่อ” 

 นายมะละกออ่านดูก็รู้ว่าเป็นใบฎีกาบอกบุญงานวัด จึงอุทานขึ้นมาว่า “โอ้ย ! ตาย แน่ๆ เห็นทีกูจะต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นแล้วกระมัง” 

นางแตงไทยภรรยาสุดที่รักถามขึ้นมาด้วยความสงสัยว่า “นึกอย่างไรขึ้นมาถึงจะเปลี่ยนศาสนาอีกล่ะ ศาสนาไหนมันก็ดีเหมือนกันแหละ เพราะศาสนาเขาสอนให้คนเป็นคนดี ผีเข้าหรือไง” 

นายมะละกอพูดสวนทันควันว่า “ไอ้ที่กูพูดไปเมื่อกี้นี้น่ะ เพราะกูเพลียบุญโว้ย การ์ดแต่งงานบ้านไอ้แกละ การ์ดงานบวชบ้านไอ้หม่อง การ์ด งานทำบุญร้อยวันบ้านตาจ้ำยังไม่ได้เอาเงินใส่ซองเลย เดี๋ยวก็มีวัดโน้น วัดนี้มาเรี่ยไรอีก นี่ก็ใบฎีกาบอกบุญงานวัดอีก จะไม่ให้กูพูดอย่างนี้ได้อย่างไร” เอาเป็นว่าเราจบเรื่องลงตรงนี้ก่อนนะครับ หันมาเข้าประเด็นที่จะพูดดีกว่า

ใบฎีกาเป็นใบที่ทางวัดประกาศเชิญชวนให้ญาติโยมไปร่วมบุญเนื่องในวันสำคัญ เทศกาลทางศาสนา หรือกิจกรรมที่ทางวัดจัดขึ้นเป็นครั้งคราวในปีหนึ่งๆ ซึ่งใครจะไปหรือไม่ไปนั้นทางวัดเขาไม่บังคับหรอกครับ การจะทำบุญช่วยทางวัดหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช้วัตถุประสงค์หลักของการออกใบฎีกา เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ขอให้ผู้อ่านดูหลักการเกี่ยวกับคำนี้ดังต่อไปนี้

    ๑. วัตถุประสงค์ของการออกใบฎีกา เพื่อต้องการให้คนไปร่วมงาน อันเป็นการแสดงพลังของศรัทธาหรือความเชื่อ ความสามัคคี เป็นการพบปะสังสรรค์กัน ทำประโยชน์ให้แก่วัดและชุมชนร่วมกัน และที่สำคัญก็คือการไปร่วมงานจะทำให้ได้ทั้งบุญคือความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำความดี ได้ทั้งกุศลคือความฉลาดในการทำความดี โดยเฉพาะได้หลักการดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ที่พระท่านแสดงหรือเทศน์ให้ฟัง

    ๒. การจะเข้าร่วมหรือไม่อยู่ที่ความพร้อม ถ้าเสียสละเวลาหรือภาระหน้าที่การงานไปได้ ก็เป็นการดี แต่ถ้ามีธุระติดขัดจริงๆ ไม่สามารถไปได้ก็ส่งตัวแทนไป หรือถ้าไม่มีใครสามารถไปได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ถือว่าเป็นบาปกรรมอะไร

    ๓. การจะนำเงินหรือสิ่งของไปช่วยวัดก็ให้พิจารณาดูความเหมาะสม ทำเท่าที่เราสามารถทำได้ อย่าทำให้ตัวเองและครอบครัวเดือดร้อน มากหรือน้อยไม่ใช่ข้อยุติของเรื่องบุญกุศล เนื่องจากมีองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณาอีกหลายประเด็น เป็นอันว่ามีน้อยทำน้อย มีมากก็ทำตามสมควร ถ้าไม่มี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะการช่วยเหลือวัดหรือกิจกรรมของวัดมีหลายวิธี เอาแรงกายไปช่วยก็ได้ หลวงพ่อท่านอนุโมทนาทั้งนั้นแหละครับ

หลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ เป็นหลักปฏิบัติแบบง่ายๆ ที่เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน เรื่องบุญกุศลมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขอให้ผู้สนใจไปศึกษารายละเอียดเอาเองก็แล้วกัน นอกจากนี้ คำว่า ฎีกา ยังหมายถึง คัมภีร์ที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา และคำว่า ใบฎีกา ยังหมายถึง หนังสืออาราธนาพระสงฆ์ไปในการทำบุญต่างๆ และตำแหน่งพระฐานานุกรมรองพระสมุห์ลงมาด้วย

เรื่องที่ ๑๘ : โชคชะตา : ชีวิตขึ้นอยู่กับโชคชะตาจริงหรือ?

เฒ่าหยอยเห็นสีหน้าอันหม่นหมอง ไม่แจ่มใสของทิดเคน จึงถามขึ้นว่า “เป็นอะไรไปล่ะทิดเคน หมู่นี้ดูเอ็งหน้าตาเศร้าหมอง ไม่สดชื่นเอาเสียเลย กลุ้มอกกลุ้มใจเรื่องอะไรล่ะ มีอะไรก็บอกให้ลุงทราบบ้าง เผื่อลุงจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง” 

ทิดเคนพูดขึ้นว่า “ลุงช่วยอะไรผมไม่ได้หรอก โชคชะตาของผมตอนนี้กำลังไม่ดี พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก พระอังคารถอง พระอาทิตย์ถีบ…”  

คำตอบของทิดเคนเล่นเอาเฒ่าหยอยสะดุ้ง อุทานขึ้นมาว่า “มันหนักเอาการถึงขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วเอ็งรู้ได้อย่างไรว่าดวงหรือโชคชะตาเอ็งกำลังเป็นเช่นนั้น” 

ทิดเคนตอบว่า “ก็ผมไปดูหมอมาน่ะซิลุง หมอดูบอกว่าตอนนี้ให้ระมัดระวังตัวหน่อย ชะตาผมขาด จะเจ็บตัวหรืออาจถึงตายได้นะลุง เขาให้ผมไปต่อชะตาที่วัดไหนก็ได้ ลุงช่วยผมได้หรือเปล่าล่ะ” 

 เฒ่าหยอยตอบว่า “ช่วยได้ซิ เดี๋ยวข้าจะพาเอ็งไปหาพระมหาโกย ได้ข่าวว่าท่านช่วยคนที่ชะตาไม่ค่อยดีมามากต่อมากแล้ว” ว่าแล้วเฒ่าหยอยกับทิดเคนก็พากันไปหาท่านพระมหาโกยที่วัดเนินมะม่วง

พอไปถึงคนทั้งสองก็ก้มลงกราบท่านพระมหาโกยๆ จึงถามขึ้นว่า “โยมมีธุระอะไรหรือ” เฒ่าหยอยสาธยายให้ท่านพระมหาโกยฟังทันทีว่า “ไอ้ทิดเคนมันไปดูหมอมาครับ หมอดูทักว่าชะตามันกำลังขาด อาจถึงตาย ท่านมหาช่วยต่อชะตาให้มันทีเถิดครับ” 

 “ได้ จะเป็นไรไป เรื่องนี้ อาตมา ช่วยคนมาเยอะแล้ว” พระมหาโกยกล่าวเสร็จแล้วก็เรียกให้ทิดเคนขยับเข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วท่านก็เริ่มพิธีของท่าน แต่พิธีของท่านนั้นเป็นการต่อชะตาด้วยธรรมโอสถเป็นยาขนานพิเศษที่ท่านเรียนมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า นั่นคือกระบวนการแก้มิจฉาทิฐิ โดยสรุปท่านพระมหาโกยได้ชี้ประเด็นให้ทิดเคนฟังไว้ ๒ ประเด็น คือ

๑. ท่านให้ใช้ปัญญานำศรัทธา หมายถึง ใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างถี่ถ้วนแล้วจึงค่อยเชื่อ โชค ชะตา ดวงเป็นเรื่องของความเชื่อที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เป็นแต่เพียงการทำนาย ทายทักไปตามหลักการ ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ถ้ามีคนหยั่งรู้เรื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าได้ก็คงดี เหตุการณ์ร้ายแรง เช่น คลื่นยักษ์สึนามิที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ถ้าเรารู้ล่วงหน้าคงไม่เสียหายมากถึงขนาดนี้ ที่สำคัญก็คือมีหมอดูคนไหนบ้างที่รู้จักวันตายของตน

๒. ท่านให้เชื่อเรื่องกรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงคำสอนเรื่องกรรม เพื่อชี้ให้คนเห็นว่าคนเราจะดี จะชั่วขึ้นอยู่กับกรรม ไม่ใช่อยู่ที่โชค ชะตา มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนให้เจริญขึ้นจนประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอให้โชคชะตาหนุนหรือรอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย จะเห็นว่าคนบางคนมีทรัพย์สินร่ำรวยมหาศาล ชาติตระกูลก็ดี การศึกษาก็สูง แต่ภายหลังกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะโชคชะตาเล่นงานหรอก แต่เพราะมันไปติดการพนันจนหมดตัว

เป็นอันว่าวันนั้นทิดเคนไม่ได้ต่อชะตาตามพิธีกรรม แต่ได้รับการต่อชะตาคือการชี้ให้เห็นทางเดินที่ถูกต้องตามหลักการทางพระพุทธศาสนา ทำให้แกเกิดปัญญาพร้อมกับเฒ่าหยอยไปด้วย เสร็จแล้วทั้งสองคนก็ลาท่านพระมหาโกยกลับบ้าน ทิดเคนได้นำหลักการที่ท่านพระมหาโกยให้มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ปัญญาในการพิจารณาเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตอย่างถี่ถ้วน สร้างขวัญและกำลังเพื่อต่อสู้ในการดำเนินชีวิตทุกเรื่อง ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างรับผิดชอบด้วยความขยันอดทน หมั่นสร้างแต่กรรมดี งดเว้นการทำความชั่ว ในที่สุดทิดเคนก็ประสบกับความสำเร็จในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดี

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๗ : ชาติ : ชาติหน้ามีจริงหรือไม่?

ผู้อ่านคงเคยได้ยินคำด่าที่มีคำว่าชาติผสมอยู่ด้วย เช่น “ไอ้ชาติหมา ไอ้ชาติชั่ว” เป็นต้น ขออภัยที่ต้องขึ้นข้อความด้วยคำด่าที่ฟังแล้วไม่ระรื่นหู แต่ที่ต้องยกมาพูดเพื่อนำเข้าไปสู่ประเด็นเรื่องของการเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำนี้ ซึ่งก็มีอยู่หลายประเด็น 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า “ชาติ” ก่อนว่า หมายถึงอะไร คำว่า “ชาติ” ส่วนใหญ่แปลว่า การเกิด แต่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลไว้หลายความหมาย เช่น การเกิด พวก ตระกูล ชนิด จำพวก ชั้นหมู่ ประเทศ เป็นต้น มีประเด็นที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำนี้ ขอให้ดูตัวอย่างต่อไปนี้

    ตัวอย่างที่หนึ่ง : ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ตาจันทร์พูดขึ้นในท่ามกลางเพื่อนฝูงที่มาร่วมงานศพนายอาทิตย์ว่า “เฮ้ย! พวกเอ็งว่าชาติหน้ามีจริงหรือไม่”  

    ตาศุกร์ตอบทันทีว่า “ไม่รู้สิ กูไม่เคยตาย อยากรู้มึงลองตายดูซิ” เจ้าแกละหลานตาจันทร์พูดขึ้นบ้างว่า “ชาติหน้าไม่มีจริงหรอก เรื่องหลอกเด็ก” ตาเสาร์กล่าวบ้างว่า “เฮ้ย! พวกเอ็งอย่าเถียงกันเลย พวกเราไปถามหลวงตาพุธดีกว่า” เสร็จแล้วพวกแก่ธรรมาสน์ทั้งหลายก็พากันไปถามหลวงตาพุธที่กำลังนั่งฉันน้ำชาอยู่บนอาสนสงฆ์ หลวงตาพุธตอบว่า “ตามตำราเขาว่ามีอยู่จริงนะ” สรุปแล้วเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด

    ตัวอย่างที่สอง : ตายแล้วไปไหน เรื่องแรกยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดเลย ตาอังคารก็เปิดประเด็นขึ้นมาใหม่ด้วยคำถามว่า “คนตายแล้วไปไหน” ตาพฤหัสตอบขึ้นทันทีว่า “ไปวัดซิวะ กูเห็นหามกันไปวัดทุกที ไม่เห็นหามกันไปที่อื่นเลย” ตากล่ำพูดอวดภูมิตัวเองขึ้นมาบ้างว่า “โถ่เอ๋ยอย่าเถียงกันเลยว่ะ คนตายแล้วมันไม่ได้ไปไหนหรอก มันก็กลายเป็นธาตุไปเท่านั้นเอง ดินไปอยู่กับดิน น้ำไปอยู่กับน้ำ ลมไปอยู่กับลม ไฟไปอยู่กับไฟ กูไม่เห็นมีใครกลับมาบอกซักคนว่ามันไปอยู่ที่ไหนกัน” คำพูดของตากล่ำฟังดูแล้วเข้าท่า (ทุกคนพูด) สรุปแล้วในวงสนทนาก็ยังไม่ได้ข้อยุติอีกเช่นเคย

ขอตอบแทนสภาศาลาวัดทั้ง ๒ เรื่องเลยก็แล้วกัน ชาติหน้ามีจริง มนุษย์ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสต้องเกิด ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับกรรมคือการกระทำของเรานี่แหละ สรุปก็คือถ้าเราทำชั่ว ที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า ทำบาปไว้มาก ตายแล้วจะไปเกิดในทุคติ คือ ตกนรก เป็นเปรต สัตว์เดรัจฉาน และอสุรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับกรรมชั่วที่ทำไว้ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ ส่วนผู้ที่ทำกรรมดีหรือบุญไว้มาก ก็จะไปเกิดในสุคติคือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ถ้าพัฒนาตนจนถึงเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานก็ไม่ต้องเกิดอีก เรื่องการเกิดหรือไม่เกิดมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขอฝากไว้ให้ผู้อ่านไปศึกษาเพิ่มเติมนะครับ

เรื่องที่ ๑๖ : ฉายา : ชื่อที่ได้ตามคุณสมบัติหรือพฤติกรรม?

มีเสียงชายคนหนึ่งตะโกนลั่นตลาดว่า “เฮ้ย! พวกเรารีบหลบไป ไอ้เหิมเกริม ฉายาตีนเทวดา กำลังมา” ฟังดูก็รู้ว่าคนที่กำลังมาเป็นใคร จะเป็นใครไปเสียไม่ได้ เขาก็คือนักเลงใหญ่หรือที่เรียกตามภาษาใหม่ๆ ว่า “โจ๋บ้าง ขาใหญ่บ้าง เจ้าพ่อบ้าง” ฉายาที่ชาวบ้านตั้งให้มัน คือตีนเทวดา เนื่องจาก เจ้าเหิมเกริมเตะ ต่อย ตบหรือทำร้ายใคร ใครไม่เคยติดคุก ชาวบ้านแถวนั้นรู้กิตติศัพท์ของมันเป็นอย่างดี จึงไม่มีใครกล้าตอแย

    จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น เป็นการนำเอาศัพท์ทางพระมาใช้ในความหมายที่ไม่ตรงกับเนื้อแท้ของคำนี้นัก เนื่องจากเป็นการตั้งชื่อให้ตามคุณสมบัติ ซึ่งก็มีทั้งในเชิงบวกและลบของคน ตัวอย่างเช่น

    ๑. ฉายาในเชิงบวก เช่น แหบมหาเสน่ห์ (สายัณห์ สัญญา) Man City Lion (ชายเมืองสิงห์) ไอ้หมัดทะล้วงไส้ (เขาทราย แกแล็กซี่) เป็นต้น
    ๒. ฉายาในเชิงลบ เช่น เจ้าพ่อนครบาล เจ้าแม่ภูธร มือปืนร้อยศพ เป็นต้น

    จากตัวอย่างของฉายาที่ตั้งให้กันข้างต้น ถ้านำมาเปรียบเทียบกับฉายาที่พระสงฆ์ใช้จะแตกต่างกัน คำว่า “ฉายา” หมายถึง ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้พระภิกษุในวันบวช เป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้บวชจะต้องเปลี่ยนเชื่อใหม่ เพื่อให้เป็นภาษาบาลีตามหลักพระวินัยและธรรมเนียมของการตั้งชื่อพระภิกษุในครั้งพุทธกาล แต่ที่ใช้กันในประเทศไทยคล้ายกับเป็นนามสกุลของพระ เช่น พระมหาสมชาย ฉายา อิทฺธิโชโต จริง ๆ แล้วไม่ใช่นามสกุล แต่เป็นชื่อใหม่ที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้ในวันที่บวช ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายในทางที่ดี ตัวอย่างที่ยกไว้ คืออิทฺธิโชโต แปลว่า ผู้รุ่งเรื่องด้วยฤทธิ์หรือความสำเร็จ ซึ่งผิดกับฉายาที่ชาวบ้านตั้งให้กัน จะใช้คุณสมบัติทั้งที่ดีและไม่ดีเป็นตัวกำหนด ดังตัวอย่างที่ยกไว้ข้างต้น สำหรับแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องนี้ขอสรุปไว้ ๒ ประเด็น คือ

    ๑. พัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ เช่น มีปัญญามากขึ้น มีทักษะในเรื่องต่างๆ มีคุณธรรมมากขึ้น เป็นต้น เพื่อให้ได้ชื่อใหม่ (ฉายา) ที่เกิดจากการการกระทำเรื่องที่ดีงาม เช่น นายบุญมี พ่อพระของชาวดอนตาล เนื่องจากตาบุญมีแกเป็นคนที่โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นต้น
    ๒. ไม่ประพฤติตนเสียหาย เพื่อไม่ให้คนประณามหรือตั้งฉายาที่เสื่อมเสียต่อตัวเองและวงศ์ตระกูล 
จากหลักการเกี่ยวกับฉายาอาจทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องฉายาตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ตลอดกระทั่งได้แนวทางแห่งการสร้างฉายาหรือชื่อในทางที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน ผู้อื่นและสังคมอย่างมหาศาล

เรื่องที่ ๑๕ : ฉันทะ : รักแบบไหนจึงเป็นฉันทะ?

“ฉันทะคืออะไรคะ” นักเรียนคนหนึ่งถามคุณครู 

ครูสาวตอบว่า “ฉันทะก็คือความพอใจนะซิคะ” (ครูตอบตามตำราที่ว่าไว้ในหลักอิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) 

เด็กหญิงคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อย่างนั้นเพื่อนหนูคงไม่มีฉันทะแน่เลยค่ะคุณครู” 

คุณครูใจดีย้อนถามทันทีว่า “เพราะอะไรเพื่อนหนูจึงไม่มีฉันทะล่ะคะ”  

เด็กนักเรียนคนดังกล่าวตอบทันทีว่า “ก็เมื่อวานนี้หนูถามเขาว่า “วันพรุ่งนี้จะไปเรียนหรือเปล่า” เขาบอกหนูว่า “ไม่ไปหรอก” หนูเลยถามเขาว่า “ทำไมจึงไม่ไป” เขาบอกหนูว่าเขาไม่พอใจครูค่ะ หนูก็ถามเขาต่อไปว่า “ทำจึงไม่พอใจครูละ ครูไปทำอะไรให้เธอไม่พอใจหรือ” เขาบอกหนูว่าเวลาที่เขาทำเลขไม่ได้ คุณครูชอบดุเขาค่ะ แสดงว่าเพื่อนหนูคงไม่มีฉันทะแน่เลย เพราะเขาไม่พอใจครู ถ้าเขาพอใจครูเขาคงมาเรียนแล้วค่ะ”  (แหม! มีลูกศิษย์ช่างเจรจา ช่างสงสัย ช่างคิดอย่างนี้คงดีนะครับคุณครูทั้งหลาย)

    เรื่องฉันทะที่ยกตัวอย่างมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังมีการเข้าใจไม่ถูกต้องในบางเรื่อง บางประเด็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น ขออธิบายหลักการของธรรมะข้อนี้โดยสรุปดังต่อไปนี้

    ๑. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ หรือความรัก แต่เป็นความพอใจหรือความรักที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดีงามให้สำเร็จ จากตัวอย่างที่เด็กหญิงในห้องคนหนึ่งคิดว่าเพื่อนของแกไม่มีฉันทะ เพราะไม่ชอบครู เป็นเรื่องที่เกิดการเข้าใจผิด เนื่องจากความไม่พอใจดังกล่าวเป็นลักษณะของโทสะ ไม่ใช่ตัวฉันทะ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีนะครับ

    ๒. ฉันทะเป็นองค์ธรรมข้อหนึ่งในอิทธิบาท ๔ จึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมที่ผลักดันให้คนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดีงามได้สำเร็จ แต่จะสำเร็จได้เป็นอย่างดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอีก ๓ ประการ คือ วิริยะ หมายถึง ความเพียรพยามทำเรื่องนั้นให้สำเร็จ จิตตะ หมายถึง ความต่อเนื่องของการกระทำ คือการกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ไม่ปล่อยวาง และวิมังสา หมายถึง การใช้ปัญญากำกับในการกระทำเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ ตรวจดูความคืบหน้า ความถดถอย ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น เมื่อพบแล้วก็หาวิธีการแก้ไข ป้องกันเสีย เมื่อใช้องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาได้อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ก็จะทำให้เรื่องที่เราทำสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกหลักธรรมนี้ว่า “อิทธิบาท” หมายถึงหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในด้านต่างๆ

หลักการทั้ง ๒ ประการนี้ อาจทำให้ผู้อ่านได้วิธีการปฏิบัติต่อเรื่องฉันทะได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญก็คือเราต้องเห็นธรรมข้อนี้ด้วยปัญญา หมายถึง เห็นถึงคุณประโยชน์ของหลักธรรมข้อนี้ว่าดีอย่างไร เห็นถึงกระบวนการส่งเสริมกันและกันขององค์ธรรมทั้ง ๔ ข้อว่าจะส่งผลสู่ความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งจะลึกซึ้งกว่า การรู้
 

บทความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๑๔ : จาคะ : สละอะไรถึงเรียกว่าจาคะ?

สภากาแฟเริ่มต้นอีกแล้วยามรุ่งเช้า สมาชิกของสภานี้ประกอบด้วยลุงโก่ง มหาเก่า ลุงเป็ด ทายกวัดนาดี นายเต่า พ่อค้าขายไข่ นายห่าน พ่อค้าขายไอศกรีม และนายหนู อาชีพทำนา คนทั้งหมดที่กล่าวมามักจะมาสนทนากันที่ร้านกาแฟของนายอั้มเป็นประจำ
    ลุงโก่ง มหาเก่าผู้อาวุโสสูงสุดเริ่มประเด็นพาเข้าหาธรรมะแต่เช้าว่า “ข้าละเอือมระอาไอ้สีกับอีสาเหลือเกิน มันทะเลาะกันเป็นประจำ ผัวเมียกัน มันจะทะเลาะกันไปทำไม ที่ถูกต้องมันต้องมีธรรมะต่อกันถึงจะทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืน” นายเป็ดถามทันทีว่า “แล้วไอ้ธรรมะที่ท่านมหาพูดเนี่ยะมันมีอะไรบ้างล่ะ บอกให้ฉันฟังบ้างซิ” ลุงโก่งบอกว่า “มันมีอยู่หลายข้อนะ แต่ที่จำได้แม่นๆ เลยก็คือจาคะ” นายเต่าชักสงสัย เพราะไม่เคยบวชจึงถามขึ้นมาบ้างว่า “แล้วไอ้จาคะที่ลุงมหาว่าเนี่ยะ มันหมายถึงอะไรล่ะ” ลุงโก่งตอบว่า “มันหมายถึงการเสียสละสิ่งต่างๆ ให้กันและกันนะซิ” นายห่านถามขึ้นมาด้วยความสงสัยเต็มที่ว่า “แล้วไอ้ที่ชายหนุ่มหญิงสาวเขายอมเป็นของกันและกันเนี่ยะ เขาเรียกว่าจาคะหรือเปล่าล่ะลุง” ท่านมหาเก่าชักงงเลยตอบไปว่า “คงงั้นมั้ง ไม่งั้นมันคงอยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก”
    สรุปแล้วเรื่องจาคะในวงสนทนาก็ไม่ได้เรื่องตามเคย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง มหาเก่าอย่างผมก็ต้องยกหลักการมาอธิบายสักหน่อย จาคะในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ประการ คือ
    ๑. อามิสจาคะ หมายถึงการสละหรือการให้สิ่งของแก่กันและกัน เช่น ให้เสื้อผ้า เครื่องประดับ ดอกไม้ อาหาร เป็นต้น ซึ่งมีความหมายเหมือนกับอามิสทาน เป็นหลักการที่สามีภรรยาต้องหยิบยื่นให้แก่กันในโอกาสต่างๆ ตามควร ที่สำคัญสามีภรรยาต้องมีจิตใจที่คิดเสียสละ ยินดีในการให้เหมือนกัน
(สมจาคา) แต่ต้องมีปัญญากำกับด้วยนะครับ
    ๒. กิเลสจาคะ หมายถึง การสละกิเลส หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามออกไปโดยไม่ต้องมีใครร้องขอ หรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ เช่น ภรรยาขอร้องให้สามีเลิกกินเหล้า ถ้าสามีเลิกกินเหล้าตามคำขอของภรรยาได้แสดงว่า สามีมีจาคะให้แก่ภรรยา หรือสามีขอร้องภรรยาว่า อย่านินทาชาวบ้านเลย มันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ถ้าภรรยาเลิกนินทาชาวบ้านตามที่สามีร้องขอได้ก็แสดงว่า ภรรยามีจาคะต่อสามี ประเด็นเรื่องกิเลสจาคะนี่เองที่จะทำให้ชีวิตคู่เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากเป็นการสละความไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูกต้องอันจะเป็นสาเหตุทำลายความสุขของชีวิตคู่ให้พังทลายลงออกไป
    
ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า ความหมายที่แท้จริงของจาคะคืออะไร ถ้าเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติได้ถูกต้องจะเป็นประโยชน์อย่างมาก และโปรดเข้าใจเพิ่มเติมว่า จาคะมิใช่เป็นเรื่องที่ใช้เฉพาะชีวิตคู่เท่านั้น ทุกคนสามารถนำมาใช้ปฏิบัติต่อกันได้เป็นอย่างดี ดูเหมือนว่าโลกปัจจุบันยิ่งต้องการจาคะทั้ง ๒ ประการอย่างมาก 

บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

เรื่องที่ ๑๓ : จริต : มารยาหรือนิสัยของมนุษย์?


   ยายเมี้ยนแกเป็นคนปากจัด วันหนึ่งแกด่าลูกสาวของแกว่า “มึงนี่ดัดจริตจริงๆ น้ำเปล่าทำเป็นกินไม่ได้ ต้องใส่น้ำแข็ง กูไม่มีหรอกน้ำแข็งน่ะ มีแต่น้ำแข้งกับน้ำหลังมือเนี่ยะ มึงจะเอาไหม” เล่นเอาลูกสาวแกงอนตุ๊บป่อง เดินกระทืบเท้าตึงๆ ส่งผลให้เสาเข็มใต้พื้นบ้านทรุดตัวไปหลายเซ็นต์ (ลืมบอกไปว่า ลูกสาวแกน้ำหนักเพียงแค่ ๑๓๐ ก.ก.เท่านั้นเอง)
    ยกประเด็นยายเมี้ยนด่าลูกสาวมาเล่าให้ฟัง เพื่อชี้ให้เห็นว่า แกใช้คำว่า “จริต” มาผสมผสานกับคำว่า “ดัด” มาเป็นคำด่า กลายเป็น “ดัดจริต” ซึ่งมีความหมายว่า แสร้งทำกิริยาหรือวาจาให้เกินควร เพื่อให้เห็นความหมายและแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องนี้ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาขอสรุปประเด็นเรื่องนี้ไว้ ๒ ประการ คือ
    ๑. ความหมายและประเภท คำว่า “จริต” หมายถึง ความประพฤติของคน ซึ่งมักจะหนักไปทางใดทางหนึ่ง มีอยู่ด้วยกัน ๖ ประเภท คือ (๑) ราคจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางรักสวย รักงาม เจ้าระเบียบ (๒) โทสจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเจ้าโทสะ โกรธง่าย วู่วาม ชอบความรุนแรง (๓) โมหจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเขลา ขาดปัญญา ทำอะไรมักผิดพลาดอยู่เสมอ (๔) สัทธาจริต หมายถึง  คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเชื่อง่าย ใครพูดอะไรมาก็มัก
จะเชื่อ โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน (๕) พุทธิจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเจ้าความคิด เชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบวิเคราะห์ วิจารณ์เรื่องต่างๆ (๖) วิตกจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางด้านวิตกกังวล คิดมาก ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือปุถุชนทุกคนมีจริตทั้ง ๖ ประการ เหมือนกัน แต่จะหนักไปทางใดทางหนึ่งนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น บางคนหนักไปทางด้านรักสวย รักงาม ก็เรียกบุคคลนี้ว่าเป็นคนราคจริต เป็นต้น
    ๒. ประโยชน์ การเรียนรู้จักจริตเหล่านี้จะทำให้เราสามารถปรับพฤติกรรมที่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่งอย่างเกินขอบเขตให้เกิดความพอดี ถูกต้อง เหมาะสม ตลอดจนกระทั่งระมัดระวังจริตที่จะสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง ผู้อื่น และสังคม รวมถึงการปฏิบัติและการวางตนต่อบุคคลที่มีจริตต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
    จะเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องจริตเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมาก มิใช่เป็นเรื่องของกิริยาท่าทางที่แสดงออกมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินจริง เหมือนอย่างที่ชาวบ้านชอบพูดกันว่า “ดัดจริต” แต่เป็นการเรียนรู้ถึงนิสัยของตัวเองเพื่อที่จะหาทางแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีงามอันเป็นการป้องกันความเสียหายต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคมไปในตัวด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้นิสัยของคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราระมัดระวังและปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ