วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๓ : กรวดน้ำ ต้องใช้น้ำกรวดเท่านั้นหรือ?


บ่ายคล้อยวันหนึ่ง อากาศกำลังอบอ้าวด้วยไอร้อน แต่ดูเหมือนว่าหนุ่มเคล้าไม่กลัวความร้อน เพราะร่างกายของแกถูกเติมความร้อนเข้าไปด้วยเหล้าขาว เดินตุปัดตุเป๋ คดไปคดมา ชาวบ้านต่างพากันใจคอไม่ดี เพราะกลัวแกจะตกคลองหรือคันนาไปจมน้ำตาย ในขณะที่ทุกคนต่างใจจดใจจ่ออยู่นั้น หนุ่มเคล้าก็ครวญเพลงสามหัวใจเสียงลั่นทุ่งว่า “กรวดน้ำ คว่ำขัน รักกันชาติเดียว ร้างเกลียวสวาท…”

    ชาวบ้านต่างพากันโล่งอกโล่งใจไปตามๆ กัน หลังจากที่หนุ่มเคล้าสร่างเมาแล้ว หนุ่มแหวนก็เลยถามเพื่อนว่า “เอ็งจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ใครวะไอ้เคล้า” หนุ่มเคล้าตอบเพื่อนทันทีว่า “จะใครเสียอีกล่ะ ก็อีทองหยอดไงเล่า” หนุ่มแหวนสงสัยจึงถามว่า “อ้าว! อีทองหยอดมันตายตั้งแต่เมื่อไรวะ กูไม่ยักรู้เรื่องเลย” หนุ่มเคล้าตอบว่า “มันไม่ตายหรอก แต่มันไปมีแฟนใหม่อยู่ที่กำแพงเพชรนะซิ กูเลยต้องกรวดน้ำ คว่ำขัน อธิษฐานจิตว่าไม่ขอเจอกับมันอีกไม่ว่าชาติไหนๆ”

    กรณีการกรวดน้ำของหนุ่มเคล้าข้างต้นเกิดจากการเข้าใจผิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความจริงแล้ว การกรวดน้ำเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลที่ตายไปแล้ว จากตัวอย่างข้างต้นนี้ ผู้เขียนขอยกเรื่องความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องต่อเรื่องนี้ไว้เป็นกรณีศึกษา ๕ ประเด็น คือ

    ๑. การกรวดน้ำเพื่อขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตัวอย่างการกรวดน้ำของนายเคล้าเป็นการอธิษฐานเพื่อไม่ให้พบเจอกับสาวทองหยอดที่หักอกตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากการกรวดน้ำมิใช่เป็นการอธิษฐานขอนั่น ขอนี้จากส่วนบุญที่ตนได้กระทำ แต่เป็นเรื่องของการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์

    ๒. การกรวดน้ำต้องใช้น้ำเท่านั้น ถ้าไม่มีน้ำ ใช้ไม่ได้เป็นการเข้าใจผิด ความจริงน้ำได้ถูกนำมาเป็นสื่อในการอุทิศส่วนกุศล จึงได้ชื่อว่า “กรวดน้ำ” แต่ตามหลักของการอุทิศส่วนบุญเป็นเรื่องของกุศลจิตที่เปี่ยมด้วยความสุขที่เกิดจากบุญและความต้องการที่จะให้บุญกุศลที่เราได้รับถึงบุคคลอันเป็นที่รักหรือคนที่เราเคยรู้จักมักคุ้นที่ตายไปแล้ว ดังนั้นจะมีน้ำหรือไม่มีก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียหาย อยู่ที่เจตนาของเราเป็นหลัก ถึงมีน้ำกรวด แต่จิตไม่ได้อยู่กับคำกรวดน้ำหรือสิ่งที่ตนกำลังกระทำ หรือในขณะที่กรวดน้ำ จิตใจขุ่นมัว ไม่ผ่องใส คิดโน่นคิดนี่ อย่างนี้ก็ไม่สมบูรณ์ สรุปการกรวดน้ำเป็นเรื่องของเจตนาที่ดี ในขณะที่กรวดน้ำเราต้องทำใจให้ผ่องใส แน่วแน่ แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่คนที่เราต้องการอุทิศให้ อย่างนี้ก็สมบูรณ์เอง จะมีน้ำหรือไม่มีก็ได้ ภาษาทางบ้านผมเรียกการกรวดน้ำที่ไม่ต้องใช้น้ำกรวดว่า “กรวดน้ำแห้ง”

    ๓. กรวดน้ำต้องกรวดตอนที่พระยะถาเท่านั้น ถ้าไม่ทำตรงนี้ถือว่าผิด ในข้อที่ ๒ ผู้อ่านคงเข้าใจความหมายและวิธีการของการกรวดน้ำไปแล้ว จะเห็นว่าการกรวดน้ำเป็นเรื่องของเจตนาที่เป็นกุศล ถ้าพิจารณาในประเด็นนี้ก็จะพบข้อสรุปสำหรับเรื่องนี้คือการกรวดน้ำในขณะที่พระว่า ยะถาเป็นเรื่องของพิธีการที่ทำกันตามแบบแผนดั้งเดิม ตั้งแต่พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์อินเดียในยุคพุทธกาล แต่ในบางแห่งพบว่าการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้พระว่ายะถาก็ได้ ดังนั้นท่านจะกรวดน้ำตอนไหนก็ได้ ถ้าท่านสะดวก เพราะพระบางวัดที่ไปรับบิณฑบาต ท่านก็ไม่ได้ให้พรโยม โดยส่วนใหญ่
ผู้ตักบาตรก็มักอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลที่ต้องการอุทิศให้หลังจากที่พระรับบิณฑบาตไปแล้ว อาจเป็นการอุทิศให้ตรงที่ตักบาตรหรือกลับมากรวดน้ำที่บ้านก็ได้

    ๔. ผู้ตายจะได้รับส่วนบุญกุศลที่เราอุทิศให้หรือไม่ ตามหลักการผู้ที่จะได้รับบุญกุศลที่เราอุทิศให้นั้นมีจำพวกเดียวเท่านั้นคือเปรต ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า “เปรตขอส่วนบุญ” นะครับ นอกจากนี้ไม่ได้รับ เพราะเทวดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉานมีอาหารจำเพาะของตนอยู่แล้ว ส่วนสัตว์นรกและอสุรกายมีผลกรรมชั่วที่ต้องชดใช้เป็นอาหาร

    ๕. ถ้าผู้ตายไม่ได้รับแล้วบุญกุศลที่เราอุทิศให้นั้นไปอยู่ที่ไหน ผลบุญที่เราอุทิศให้แก่ผู้ตายที่ไปเกิดในภพภูมิอื่นที่ไม่ใช่เปรตก็จะตกอยู่กับผู้รับ เพราะบุญกุศลเป็นเรื่องของความดี ใครจะได้รับหรือไม่นั้น ความดีก็ยังเป็นของผู้กระทำ ความดีนี้แปลกอยู่อย่างหนึ่งครับ คือยิ่งให้ยิ่งได้
    จากตัวอย่างที่นำเสนอมาจะเห็นว่าเรื่องนี้ยังมีการเข้าใจผิดที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ถือปฏิบัติตามๆ กันมาโดยปราศจากการศึกษา เรียนรู้ อย่าลืมว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ไม่ใช่ศรัทธาเพียงอย่างเดียว เป็นศาสนาที่เน้นให้ศาสนิกเรียนรู้ทำความเข้าใจหลักคำสอนและปฏิบัติตาม ตลอดกระทั่งเผยแผ่หลักคำสอน ส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาอย่างถูกต้องด้วย

บทความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น