วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๑ : โคจร อโคจร : สถานที่ใดบ้างที่พระภิกษุไม่ควรไป?


มีเรื่องที่สร้างความฮือฮาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่พักหนึ่งก็คือกรณีมีผู้ร้องเรียนถึงพฤติกรรมการเดินห้างไปซื้อสิ่งต่างๆ ของพระสงฆ์ โดยเนื้อหาที่ร้องเรียนได้ระบุถึงความไม่เหมาะสมที่พระสงฆ์ไปเดินในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ห้างพันธ์ทิพย์ เป็นต้น ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมต้องออกมาพูดและดูเหมือนว่าจะออกกฎเข้ามาควบคุมเรื่องนี้ด้วย ซึ่งก็ทำให้ชาวพุทธมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้ขอนำเสนอความหมายและแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องนี้ไว้ในประเด็นต่อไปนี้

    ๑. ความหมาย คำว่า “โคจร” แปลว่า สถานที่เที่ยวไปของโค หมายถึง สถานที่หากินของโค พระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ที่ต้องอาศัยชาวบ้าน จึงทรงบัญญัติพระวินัยเกี่ยวกับเรื่องโคจรขึ้นมา โดยสรุปสถานที่ที่พระภิกษุพึงเข้าไป จะต้องมีความเหมาะสมกับสถานภาพของนักบวช ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็น เช่น ในยามเกิดศึกสงครามจำเป็นต้องลี้ภัยก็สามารถเดินทางไปกับกองทัพได้ แต่มีสถานที่ที่เป็นอโคจร หมายถึง บุคคลหรือสถานที่พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไป เนื่องจากมีความไม่เหมาะสม และอาจก่อให้เกิดเรื่องเสียหายขึ้นทั้งแก่ตัวพระสงฆ์เองและพระศาสนา ซึ่งท่านแสดงไว้ ๕ ประการ คือ หญิงม่าย สาวเทื้อ (สาวแก่ที่ยังไม่แต่งงาน) บัณเฑาะก์ (กระเทย) ภิกษุณี และโรงสุรา (รวมแหล่งถึงขายยาเสพติดและแหล่งการพนันทุกชนิด) 

    ๒. ประเด็นการพิจารณาว่าพระไปเดินตามห้างเหมาะสมหรือไม่ คงต้องวินิจฉัยในหลายเรื่อง อย่างแรกอาจมองไปที่ว่า เรื่องห้างยังไม่มีในสมัยพุทธกาล แต่มีหลักของมหาปเทสที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้เป็นหลักในการพิจารณาเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้านำหลักมหาปเทสมาใช้ ห้างที่มีคนพลุกพล่านก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่พระสงฆ์ไม่ควรไป โดยเฉพาะการไปจับจ่ายซื้อสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ถ้าว่าตามหลักวินัยจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ผิดอยู่แล้ว แต่ในประเทศไทยเราก็อนุโลมกันว่าพระภิกษุสามารถรับเงินและซื้อสิ่งของได้ ถ้ามุ่งไปที่ลักษณะการตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ ก็ดูเหมือนว่า การไปเดินตามห้างเพื่อซื้อสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องที่ผิดจากหลักการข้อนี้ เพราะไม่ได้มุ่งไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ความสงัด แต่เป็นเรื่องของความพลุกพล่าน ไม่สอดคล้องกับคำว่า สมณะที่แปลว่า ผู้ต้องการความสงบ 

    ขอจบเรื่องนี้ไว้เพียงแค่นี้นะครับ อย่างไรขอให้ชาวพุทธใช้สติปัญญาให้มากนะครับ อย่าใช้อารมณ์และอัตตาเป็นเครื่องตัดสิน แต่ขอให้ยึดพระธรรมวินัยไว้นะครับแล้วทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างถูกต้อง และจะก่อให้เกิดผลดีต่อพระศาสนาโดยรวม

บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น