วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๕ : ฉันทะ : รักแบบไหนจึงเป็นฉันทะ?

“ฉันทะคืออะไรคะ” นักเรียนคนหนึ่งถามคุณครู 

ครูสาวตอบว่า “ฉันทะก็คือความพอใจนะซิคะ” (ครูตอบตามตำราที่ว่าไว้ในหลักอิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) 

เด็กหญิงคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อย่างนั้นเพื่อนหนูคงไม่มีฉันทะแน่เลยค่ะคุณครู” 

คุณครูใจดีย้อนถามทันทีว่า “เพราะอะไรเพื่อนหนูจึงไม่มีฉันทะล่ะคะ”  

เด็กนักเรียนคนดังกล่าวตอบทันทีว่า “ก็เมื่อวานนี้หนูถามเขาว่า “วันพรุ่งนี้จะไปเรียนหรือเปล่า” เขาบอกหนูว่า “ไม่ไปหรอก” หนูเลยถามเขาว่า “ทำไมจึงไม่ไป” เขาบอกหนูว่าเขาไม่พอใจครูค่ะ หนูก็ถามเขาต่อไปว่า “ทำจึงไม่พอใจครูละ ครูไปทำอะไรให้เธอไม่พอใจหรือ” เขาบอกหนูว่าเวลาที่เขาทำเลขไม่ได้ คุณครูชอบดุเขาค่ะ แสดงว่าเพื่อนหนูคงไม่มีฉันทะแน่เลย เพราะเขาไม่พอใจครู ถ้าเขาพอใจครูเขาคงมาเรียนแล้วค่ะ”  (แหม! มีลูกศิษย์ช่างเจรจา ช่างสงสัย ช่างคิดอย่างนี้คงดีนะครับคุณครูทั้งหลาย)

    เรื่องฉันทะที่ยกตัวอย่างมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังมีการเข้าใจไม่ถูกต้องในบางเรื่อง บางประเด็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น ขออธิบายหลักการของธรรมะข้อนี้โดยสรุปดังต่อไปนี้

    ๑. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ หรือความรัก แต่เป็นความพอใจหรือความรักที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดีงามให้สำเร็จ จากตัวอย่างที่เด็กหญิงในห้องคนหนึ่งคิดว่าเพื่อนของแกไม่มีฉันทะ เพราะไม่ชอบครู เป็นเรื่องที่เกิดการเข้าใจผิด เนื่องจากความไม่พอใจดังกล่าวเป็นลักษณะของโทสะ ไม่ใช่ตัวฉันทะ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีนะครับ

    ๒. ฉันทะเป็นองค์ธรรมข้อหนึ่งในอิทธิบาท ๔ จึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมที่ผลักดันให้คนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดีงามได้สำเร็จ แต่จะสำเร็จได้เป็นอย่างดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอีก ๓ ประการ คือ วิริยะ หมายถึง ความเพียรพยามทำเรื่องนั้นให้สำเร็จ จิตตะ หมายถึง ความต่อเนื่องของการกระทำ คือการกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ไม่ปล่อยวาง และวิมังสา หมายถึง การใช้ปัญญากำกับในการกระทำเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ ตรวจดูความคืบหน้า ความถดถอย ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น เมื่อพบแล้วก็หาวิธีการแก้ไข ป้องกันเสีย เมื่อใช้องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาได้อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ก็จะทำให้เรื่องที่เราทำสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกหลักธรรมนี้ว่า “อิทธิบาท” หมายถึงหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในด้านต่างๆ

หลักการทั้ง ๒ ประการนี้ อาจทำให้ผู้อ่านได้วิธีการปฏิบัติต่อเรื่องฉันทะได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญก็คือเราต้องเห็นธรรมข้อนี้ด้วยปัญญา หมายถึง เห็นถึงคุณประโยชน์ของหลักธรรมข้อนี้ว่าดีอย่างไร เห็นถึงกระบวนการส่งเสริมกันและกันขององค์ธรรมทั้ง ๔ ข้อว่าจะส่งผลสู่ความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งจะลึกซึ้งกว่า การรู้
 

บทความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น