วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๖ : ขันธ์ : มันคืออะไรกันแน่?


ณ วงเหล้าร้านตาคำ หนุ่มวัยฉกรรจ์ ๕ คน กำลังถองเหล้าขาวกับมะขามเปียกกันอย่างได้ที่ นายอินพูดขึ้นมาว่า “เมื่อวานกูไปฟังเทศน์ที่วัดมา หลวงตาคงแกเทศน์เรื่องขันธ์ว่ะ ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่า ขันธ์มันคืออะไร พวกมึงรู้ไหมว่าขันธ์มันคืออะไรกันแน่” 

นายนาพูดขึ้นมาทันทีว่า “โถ ! จะไปยากอะไร ขันก็คือภาชนะที่ตักน้ำกินอย่างไงเล่าไอ้โง่ บ้านมึงไม่มีขันตักน้ำกินหรือไง หรือใช้แต่กะลาวะไอ้อิน” 

นายอยู่พูดขึ้นมาบ้างว่า “พวกเองไม่เข้าใจ ขันเนี่ยะมันแปลได้หลายอย่าง ที่ไอ้นามันบอกก็ใช่ แต่ขันมันยังหมายถึง คำที่เป็นกิริยาด้วยนะมึง (ชักเล่นวิชาการ) เช่น ไก่ขันอย่างไรละ มึงไม่เคยได้ยินกันหรืออย่างไร หรือไก่พวกเอ็งไม่ขันตอนเช้าวะ ถ้าอย่างนั้นพวกเอ็งเอาไก่ไปปล่อยที่วัดได้แล้ว” (นายอยู่แกพูดมีนัย) สรุปแล้วธัมมสากัจฉา (การสนทนาธรรม) ในวงเหล้าไม่ได้ข้อสรุปอะไร 

    จากตัวอย่างของการสนทนาธรรมในวงเหล้าข้างต้นจะเห็นว่ามีการเข้าใจผิด จากคำว่า “ขันธ์” แต่ฟังผิดเป็นคำว่า “ขัน” ทำให้สื่อความหมายไปคนละทิศละทาง เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้ ผู้เขียนขออธิบาย คำว่า “ขันธ์” ไว้เป็น ๒ ความหมาย คือ

    ๑. ขันธ์ หมายถึง ส่วนที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต เข้าใจว่าผู้อ่านคงได้ยินคำพูดที่ว่า “ชีวิตคนเราประกอบด้วยขันธ์ ๕” หมายความว่า ส่วนที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตของคนมีอยู่ ๕ ประการ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรียกสั้นๆ ว่า รูปกับนาม องค์ประกอบคือรูปจัดเป็นรูปหรือส่วนที่เป็นร่างกายทั้งหมด (สสาร) องค์ประกอบคือเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จัดเป็นนาม คือสภาวะที่ไม่มีรูปร่าง ตัวตน (อสสาร) คิดว่าคงทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้ขึ้นมาบ้างนะครับ
    ๒. ขันธ์ หมายถึง หมวด ผู้อ่านคงได้ยินคำพูดที่ว่า “หลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์” ขันธ์ในประเด็นนี้ มุ่งไปที่หัวข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ โดยสรุปมีอยู่ ๕ หมวด คือ (๑) หมวดศีล เช่น ปาติโมกขสังวร กายสุจริต สัมมาวาจา เป็นต้น เรียกว่า “สีล-ขันธ์” (๒) หมวดสมาธิ เช่น สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นต้น เรียกว่า “สมาธิขันธ์” (๓) หมวดปัญญา เช่น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น เรียกว่า “ปัญญาขันธ์” (๔) หมวดวิมุตติ เช่น วิราคะ วิสุทธิ นิพพาน เป็นต้น เรียกว่า “วิมุตติขันธ์” (๕) หมวดวิมุตติญาณทัสสนะ เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เรียกว่า “วิมุตติญาณทัสสนขันธ์” 

    คำสอนของพระพุทธเจ้าแม้แต่จะมีมากเพียงใดก็ตาม ถ้าสรุปลงก็อยู่ในไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา และรวมลงเหลือเพียงหนึ่งเดียวคือความไม่ประมาท 
บทความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น