วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๐ : คว่ำบาตร : บทลงโทษสร้างสรรค์หรือทำลาย?


เหตุเกิดขึ้นที่สภาชุมชนบ้านโคกไม้ขาว ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงหนักแน่นหลังจากได้ประชุมปรึกษาหารือกับลูกบ้านเรื่องพฤติกรรมของพ่อค้าคนกลางที่เอารัดเอาเปรียบชาวนาด้วยการกดราคาข้าวให้ต่ำลง ทำให้ชาวนาเสียผลประโยชน์ว่า 

“เราจะต้องคว่ำบาตรพวกพ่อค้าหน้าเลือดเหล่านี้” 

ตาขำทักท้วงขึ้นมาทันทีว่า “คว่ำบาตรแล้วพระจะเอาบาตรที่ไหนไปบิณฑบาตเล่าผู้ใหญ่” 

ผู้ใหญ่บ้านชักฉุนจึงพูดขึ้นว่า “จะเล่นตลกหรือไงตาขำ ที่ผมพูดน่ะ ไม่ได้หมายความว่าให้ไปเอาบาตรพระมาคว่ำ แต่หมายถึง การไม่คบค้าสมาคม ไม่ขายข้าวให้กับพวกพ่อค้าหน้าเลือดเหล่านั้น พวกเราต้องรวมกลุ่มกัน เป็นผู้ตั้งราคาข้าวขึ้นมาเอง จะได้ไม่ถูกเขาเอารัดเอาเปรียบอีก” 

ตาเขียนถามขึ้นบ้างว่า “ผู้ใหญ่ ถ้าเราตั้งราคาเองแล้ว ไม่มีพ่อค้าคนไหนมาซื้อเล่าจะทำอย่างไร” 

ผู้ใหญ่ตอบทันทีว่า“เอ็งไม่ต้องกังวลไปหรอก เดี๋ยวนี้รัฐบาลเขามีนโยบายให้เกษตรกร นำข้าวไปเข้าโครงการจำนำข้าวได้แล้ว” 
นายขาวถามขึ้นด้วยความสงสัยว่า “จำนำข้าวเสียดอกเบี้ยเหมือนเอานาฬิกาไปจำนำไหม” 

ผู้ใหญ่ตอบทันที่ว่า “มันคนละเรื่องกันแล้ว ไอ้ที่แกพูดน่ะ มันโรงจำนำ แต่การจำนำข้าวเปลือกก็คือการเอาข้าวไปฝากขายให้แก่รัฐบาลๆ เขาให้ตามราคาประกันไว้ เขาไม่เอาเปรียบชาวนาอย่างพวกเราหรอก”

    ท่าทางการประชุมยังจะหาข้อยุติไม่ได้ เพราะมีการแตกประเด็นกันไปเรื่อยๆ เอาละปล่อยให้สภาโคกไม้ขาวเขาประชุมกันต่อไปก็แล้วกัน เรามาเข้าเรื่องการคว่ำบาตรดีกว่า ซึ่งมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจตามที่ผู้ใหญ่แกพูดว่ามันคืออะไรกันแน่ ในประเด็นดังต่อไปนี้

  ๑. คว่ำบาตรเป็นสังฆกรรมประการหนึ่ง ที่พระสงฆ์นำมาใช้ประกาศลงโทษอุบาสก อุบาสิกาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น ทำลายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

    ๒. วัตถุประสงค์ของการคว่ำบาตร มิใช่เป็นการเอาเป็นเอาตายกับอุบาสก อุบาสิกาผู้มีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่เป็นการลงโทษเพื่อให้เขาสำนึกตัว จะได้ไม่ทำอย่างนั้นอีก เมื่อเขาสำนึกผิด เข้ามาหาและขอโทษพระสงฆ์ พร้อมทั้งปฏิญาณตนว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก พระสงฆ์ก็ต้องประกาศเลิกคว่ำบาตร ให้อภัย และให้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องแก่เขา พร้อมทั้งประกาศให้พระสงฆ์คบค้าสมาคม รับเครื่องไทยธรรมจากบ้านของบุคคลนั้นได้ตามปกติ

    จากประเด็นเรื่องการคว่ำบาตรนี้ ชาวบ้านได้นำเอาหลักการของพระสงฆ์มาใช้กันดังตัวอย่างข้างต้น ก็คงไม่ผิด ความหมายก็เหมือนเดิมคือเป็นการลงโทษด้วยการไม่คบหา ไม่ร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บุคคลที่มีพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือสังคมได้สำนึก และกลับตัวกลับใจเป็นคนดี สังคมก็พร้อมที่จะให้อภัย แต่อย่างไรก็ต้องระมัดระวังนะครับ เพราะสังฆกรรมเป็นเรื่องที่ใช้เฉพาะพระสงฆ์ อาจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนที่ไม่รู้ความเป็นมาในอนาคตได้
บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น