วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๒ : กรรม ผลร้ายในอดีตใช่หรือไม่?


วันหนึ่งชาวบ้านดอนมะเขือต่างพากันจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตายของนายสอนไม่จำที่ถูกมือมืดใช้ปืนแก๊บยิงหัวกระจุย นอนตายอยู่กลางถนนพร้อมกับพระเครื่องเต็มคอ ชาวบ้านที่พากันมามุงดูบางคนพูดว่า “พระหนีไปไหนหมด ทำไมไม่มาช่วยปัดลูกปืนให้มัน” ชาวบ้านอีกคนพูดว่า “สงสัยพระจะเกี่ยงกัน เห็นมันคล้องพระหลายองค์เหลือเกินนี่” ชาวบ้านอีกคนพูดขึ้นมาบ้างว่า “มันเป็นกรรมของมัน พระที่ไหนจะอยู่คุ้มครองคนชั่วๆ แบบนี้ ตายเสียได้ก็ดี แผ่นดินจะได้สูงขึ้น” (แนะ! มีการแช่งเสียด้วย เวลามันยังไม่ตายไม่ยักจะพูด คงกลัวมันเตะเอานะซิ) คำพูดของคนที่สาม ฟังดูแล้วน่าสนใจ อ่อ! ลืมบอกไปว่าเจ้าสอนไม่จำมันมีพฤติกรรมอย่างไร สรุปสั้นๆ ก็แล้วกันนะครับ นายสอนไม่จำเป็นนักเลงขาใหญ่ จะใหญ่แค่ไหนไม่บอก เอาว่ามันชอบทำตัวเป็นนักเลงอันธพาล ประเภทตีหัวหมา ด่าแม่ชาวบ้าน โดยเฉพาะตอนที่มันเมา อะไรขวางหน้าเป็นถูกเตะ ขนาดหมาในหมู่บ้านพอเห็นนายสอนไม่จำเดินมายังหลบ ไม่กล้าสบตาเลยครับ พฤติกรรมของมันเป็นที่อิดหนาระอาใจของชาวบ้านทั่วไป ไม่มีใครสามารถสั่งสอนมันได้ แม้กระทั่งพ่อแม่ของมันยังถูกมันเตะเลย นี้คือพฤติกรรมที่แสนเลวของมัน

    ยกตัวอย่างเรื่องกรรมหรือการกระทำไว้พอสังเขป ต่อไปนี้ก็เข้ามาสู่ประเด็นที่เห็นว่ามักจะเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา ๓ เรื่อง คือ

    ๑. การมองผลของกรรมเป็นตัวกรรม เนื่องจากคำว่า “กรรม” มักจะถูกพูดรวมๆ กันไว้ ทั้งกรรมและวิบาก จากประเด็นเรื่องการตายของนายสอนไม่จำข้างต้นที่ชาวบ้านคนหนึ่งพูดว่า “มันเป็นกรรมของมัน” ชี้ให้เห็นว่า มีการเข้าใจผิด มองผลกรรมเป็นเรื่องกรรม ที่ถูกต้องควรพูดว่า “มันเป็นผลกรรมของมัน” ผู้อ่านต้องแยกแยะให้ออกระหว่างกรรมกับวิบาก (ผลกรรม) การที่นายสอนไม่จำประพฤติตนเป็นนักเลงอันธพาลเที่ยวด่าหรือทำร้ายคนอื่น แม้กระทั่งพ่อแม่ของตนเป็นเรื่องของกรรม (การกระทำ) การถูกลอบยิงตายโดยคนที่ไม่พอใจในพฤติกรรมของเขาเป็นเรื่องของวิบาก (ผลกรรมชั่วที่เขาทำ ซึ่งได้รับในโลกนี้)

    ๒. การมองกรรมเป็นผลร้ายจากอดีต ส่งผลให้ชีวิตหยุดนิ่ง ตัวอย่างเช่น นายดำบ่นให้เพื่อนบ้านฟังว่า “ชาตินี้ข้าเกิดมามีกรรม มีลูกก็ไม่ได้ดังใจ มีเมียๆ ก็มีชู้ เลี้ยงหมูๆ ก็ตายหมดคอก” แกจึงใช้ชีวิตจมปลักอยู่กับน้ำเปลี่ยนนิสัยทั้งวัน ปัจจุบันแกต้องไปอาศัยวัดอยู่แล้วครับ เพราะทรัพย์สมบัติ ถูกแม่โขงเอาไปกินหมด ผมลืมบอกถึงพฤติกรรมของนายดำไป ความจริงแกเป็นคนที่มีฐานะมีอันจะกินคนหนึ่ง แต่ตอนหลังแกไปคบเพื่อนที่ไม่ดี เพื่อนก็เลยชวนไปกินเหล้า ผลสุดท้ายติดเหล้างอมแงม งานการไม่ยอมทำ ไม่ยอมรับผิดชอบต่อครอบครัว บางครั้งพาลหาเรื่องลูกเมีย จนลูกอยู่บ้านไม่ติด พาลเกเรไปอีกคนหนึ่ง เมียทนพฤติกรรมนักมวยของมันไม่ไหว ไม่ยอมอยู่เป็นกระสอบทรายให้มันซ้อมอีกต่อไป เลยหนีไปหาผัวใหม่ให้มันรู้เรื่องไปเลย อย่างนี้จะไปโทษผลกรรมในชาติที่แล้วอย่างไร มันต้องโทษพฤติกรรมของตัวเองในปัจจุบันจึงจะถูกต้อง

    ๓. การประเมินผลกรรมที่ตัววัตถุ ตัวอย่างเช่น คุณสมทรง พนักงานบริษัทศรีสงัด บ่นกับเพื่อนร่วมงานว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” คุณแตงกวาเลยย้อนถามมาว่า “อ้าว! ทำไมจึงพูดอย่างนั้น” คุณสมทรงตอบทันควันว่า “จะไม่ให้ฉันพูดอย่างนี้ได้อย่างไร ฉันทำงานมาด้วยความรับผิดชอบ ขยัน ไม่เคยบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่เคยลางาน ไม่เคยขาดงาน พวกเธอก็รู้ แต่ทำไมเงินเดือนฉันจึงขึ้นแค่ขั้นครึ่งเอง (จะเอาสองขั้น) ผิดกับอีแหวว ทำงานก็ไม่ได้เรื่อง ขาดงานก็บ่อย วิ่งออกวิ่งเข้าห้องเจ้านายประจำ มันได้ขึ้นเงินเดือนตั้งสองขั้น มันไม่มีความยุติธรรมนี่หว่า แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ฉันคิดว่าทำดีไม่ได้ดีได้อย่างไร” 


    สรุปว่าคุณสมทรงกำลังประเมินผลกรรมที่วัตถุภายนอกที่เป็นรูปธรรม ความจริงเรื่องกรรมดี กรรมชั่วในทัศนะพระพุทธศาสนา ไม่ได้ประเมินที่วัตถุภายนอกเพียงด้านเดียว ส่วนที่สำคัญคือการประเมินที่จิตใจของคน เนื่องจากกรรมเป็นผลมาจากจิต ดังสำนวนไทยที่ว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” ความดีหรือกรรมดีมีพื้นฐานมาจากจิตที่ดี เรียกว่า “กุศลจิต” การทำดีจึงดีตั้งแต่เริ่มคิด รู้สึกแล้ว ยิ่งลงมือกระทำดีอย่างถูกต้อง สมบูรณ์แล้วก็ยิ่งดียิ่งขึ้น ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากมีเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะเงื่อนไขของโลกปุถุชนที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส อาจทำให้ผลที่เราตั้งไว้ ไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้

    เรื่องกรรมและผลกรรมเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ยิ่งพูดถึงกรรมเก่าในอดีตชาติให้คนรุ่นใหม่ฟัง คงทำให้เขาเชื่อได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยเหตุการณ์ในปัจจุบันชี้ให้เขาเห็นถึงผลดีของการทำดี และผลเสียของการทำชั่วทั้งในอดีตที่ผ่านมา ทั้งที่กำลังเกิดขึ้น และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ที่สำคัญเรื่องนี้คงต้องใช้ปัญญากันให้มากหน่อยนะครับ อย่าเพิ่งด่วนสรุปหรือเชื่อเรื่องต่างๆ โดยที่ยังไม่ทันไตร่ตรอง ตรวจสอบความถูกต้องเป็นเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกใครหลอกให้ไปเข้าพิธีตัดเวร ตัดกรรมในสำนักของเจ้าลัทธิบางคนที่เก่งกว่าพระพุทธเจ้า สามารถตัดเวร ตัดกรรมของคนอื่นได้หมด ยกเว้นแต่เวรกรรมของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราเสียเงิน เสียทองไปโดยใช่เหตุหรืออาจจะเสียอย่างอื่นมากกว่านั้นก็อาจเป็นได้

หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น