วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๗ : ข้าวหน้าโลงศพ : เอาไปตั้งให้ใครกิน?



หนูน้อยวัยไร้เดียงสาอายุ ๕ ขวบ เคล้าคลออยู่กับแม่ที่กำลังจัดแจงอาหารใส่สำรับเพื่อนำไปบูชาสามีที่นอนแน่นิ่ง ไร้ลมหายใจอยู่ในโลงศพ ด้วยความสงสัยลูกสาวผู้ไร้เดียงสาจึงถามผู้เป็นแม่ว่า “แม่เอาข้าวไปให้ใครกิน” แม่ตอบลูกว่า “ก็เอาไปให้พ่อของหนูกินไง” ลูกสาวถามขึ้นอีกว่า “ทำไมพ่อไม่มากินข้าวกับ เราเล่าแม่” ผู้เป็นแม่ชักน้ำตาซึม ทำท่าน้ำตาจะไหลอาบแก้มอีก ไม่รู้จะตอบลูกอย่างไร จึงตอบไปว่า “พ่อเขาไม่ว่างลูก” ลูกสาว ผู้ช่างสงสัยถามต่อไปอีกว่า “แล้วพ่อเขาไปไหนเล่าแม่” ผู้เป็นแม่ตอบเพื่อให้เรื่องมันจบลงว่า “พ่อไปสวรรค์จ้ะ”

หยุดเรื่องนำไว้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ ผู้เขียนน้ำตาจะไหลแทน ผงมันเข้าตานะ ไม่มีอะไรหรอก ประเด็นเรื่องการนำข้าวไปตั้งไว้หน้าโลงศพผู้ตายนั้น มีการเข้าใจผิดกันว่าเพื่อให้ผู้ตายได้กิน เรื่องนี้ถ้าท่านเป็นนักสังเกตจะเห็นว่าอาหารที่นำไปไว้หน้าโลงศพนั้นไม่แหว่งเลย ไม่เห็นมีใครสักคนที่ตายไปแล้วลุกมากินข้าวได้ ถ้ามีพระที่นั่งอยู่บนอาสนสงฆ์คงวิ่งหนีก่อนโยมเป็นแน่ มีแต่แมวกับหมาเท่านั้นที่มักมาแอบกิน มีประเด็นที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทราบเพิ่มเติมหลายประการ แต่ขอสรุปไว้ ๓ เรื่อง คือ

๑. คนไทยเรานับถือผีสาง นางไม้มาก่อน มีความเชื่อว่าคนเราเวลาตายวิญญาณจะออกจากร่าง และวิญญาณนี่เองที่มีหลายคนเข้าใจว่า ผี ซึ่งไม่ตรงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นเมื่อคนตายแล้วจึงต้องทำการเซ่นดวงวิญญาณเหมือนกับการเซ่นผีสาง นางไม้นั่นเอง

๒. การสอนจริยธรรมคือความกตัญญู กตเวทีแก่ญาติของคนตาย ให้ระลึกถึงคุณความดีของผู้ตาย ตามหลักการทางพระพุทธศาสนาเรื่องทิศ ๖ ที่กล่าวถึงหน้าที่ของบุตรที่จะต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่ไว้ในข้อที่ ๕ คือเมื่อท่านตายแล้วต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่าน หลักการนี้มิได้จำกัดเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่เท่านั้น คนอื่นๆ ที่ตายก็ต้องปฏิบัติทำนองนี้เหมือนกัน แต่ที่เห็นว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือถ้าเรารู้ว่าใครเป็นที่รัก มีบุญคุณต่อเรา การที่เราจะตอบแทนคุณหรือความดีของคนนั้นก็ควรที่จะตอบแทนเสียในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เขาตายแล้วจึงเอานั่น เอานี่ไปให้กิน มันสายไปแล้วละท่านทั้งหลายเอ๋ย

๓. การสอนให้คนเห็นสัจธรรม ที่ว่าคนตายไปแล้วหมดโอกาสที่จะทำเรื่องต่างๆ ในโลกนี้ไปแล้ว โดยดูจากการที่ญาติเอาอาหารดีๆ อาหารโปรดไปวางไว้ก็ยังลุกมากินไม่ได้เลย กรณีอื่นๆ ก็เช่นกัน เช่น ญาติไปเคาะโลงศพให้ผู้ตายมากราบพระ รับศีล ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระแสดงธรรม ทำได้ที่ไหนละครับ เพราะฉะนั้น ใครที่คิดว่าชีวิตมีค่า ก็ควรสร้างค่าให้แก่ชีวิตด้วยความดีเสียในขณะที่ยังมีลมหายใจนะครับ หมดลมหายใจก็เท่ากับหมดโอกาส ไว้แก้ตัวกันในชาติหน้าก็แล้วกัน

จะเห็นว่าการที่บรรพบุรุษของเราสอนให้ญาตินำเอาข้าวไปวางไว้หน้าโลงศพคนตายมีความหมายมากกว่าการเอาไปตั้งไว้ให้ผู้ตายได้กินที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นโปรดเข้าใจให้ถูกต้องนะครับ
หากท่าน ต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น