วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๔ :กรุณา : สงสารอย่างไร จึงจะถูกต้อง เป็นธรรม?


เย็นวันหนึ่งพ่อแม่ลูกครอบครัวหนึ่งกำลังกินข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อยท่ามกลางแสงตะเกียงน้ำมันก๊าด ตามาผู้เป็นพ่อพูดขึ้นกับนายน้อยลูกชายว่า “พ่อสงสารเอ็งเหลือเกินที่ต้องมาลำบากตั้งแต่ตัวเล็กๆ พ่อคิดว่าจะส่งเอ็งไปบวชเรียนเหมือนอย่างไอ้สมชายลูกตาช่วย มันก็บวชเรียนจนจบปริญญาโท สึกออกมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เองคิดอย่างไรหรือไอ้น้อย” นายน้อยตอบว่า “แล้วแต่พ่อกับแม่ก็แล้วกัน”  

ยายมดผู้เป็นแม่พูดเสริมขึ้นมาบ้างว่า “จะแล้วแต่พ่อกับแม่ได้อย่างไร มันเป็นเรื่องอนาคตของเอ็งนะไอ้น้อย” 

นายน้อยจึงพูดว่า “ผมเป็นห่วงพ่อกับแม่จะลำบาก จะทำนาไหวหรือ” 

ตามากับยายมดพูดขึ้นพร้อมกันด้วยเสียงหนักแน่นว่า “เอ็งไม่ต้องห่วงพ่อกับแม่หรอก พ่อกับแม่ยังทำไหว ถ้าเอ็งไปบวชจริงๆ พ่อกับแม่ก็ทำแต่น้อยๆ ขอให้เอ็งบวชแล้วตั้งใจเรียนจริงๆ เถอะ” 

นายน้อยจึงพูดว่า “ถ้าพ่อแม่เห็นดีและคิดว่ายังทำนาไหว ผมก็จะบวชเรียน ผมรับรองว่าจะไม่ทำให้พ่อกับแม่ผิดหวัง คอยดูนะผมจะต้องเป็นมหาเปรียญ ๙ เหมือนอย่างทิดสมชายให้ได้และผมจะเอาด๊อกเตอร์มาฝากพ่อกับแม่ด้วย” 

สองผัวเมียพูดขึ้นพร้อมๆ กันทันทีว่า “พอๆ เถอะไอ้น้อย เอ็งอย่าเพิ่งฝันเฟื่องไปยกใหญ่เลย รอให้เอ็งไปเรียนและทำให้ได้เสียก่อนเถอะแล้วค่อยคุย อย่างไรพ่อกับแม่ก็ขอให้เอ็งทำให้เต็มที่ด้วยความตั้งใจก็พอ ส่วนมันจะได้แค่ไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” 

    การสนทนาในวงข้าวของครอบครัวนี้จบลงและได้สาระเป็นอย่างดี และในที่สุดนายน้อยก็ได้บวชเป็นสามเณรเรียบร้อยไปแล้ว ไม่รู้ว่าป่านนี้ จะทำได้อย่างที่พูดไว้กับพ่อแม่หรือเปล่า

    จากเรื่องข้างต้นนี้ ผู้อ่านคงจะเห็นความรักของพ่อแม่ (เมตตา) และความสงสาร (กรุณา) ที่มีต่อลูก ไม่อยากให้ลูกต้องลำบากตรากตรำอยู่กับไร่กับนา ต้องการให้ลูกมีอนาคตที่ดี แม้ว่าตัวเองจะยากจน แต่ก็พยายามหาอนาคตที่ดีให้แก่ลูก โดยการพึ่งใบบุญร่มผ้ากาสาวพัตร์ ให้ลูกได้บวชเรียน แต่คุณธรรมของพ่อแม่ข้อนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ถ้าพ่อแม่หรือใครก็ตามขาดปัญญา ขอให้ดูตัวอย่างต่อไปนี้

    ตัวอย่างที่หนึ่ง คุณสมจิตร เป็นคนที่รักลูกมาก ลูกจะเอาอะไรก็พยายามหามาให้ทุกอย่าง ไม่เคยขัดใจ ผลสุดท้ายลูกกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ใครทำอะไรไม่ถูกใจเป็นแผดเสียงดังลั่น วันหนึ่งลูกชายแกไปมีเรื่องกับโจ๋หน้าปากซอยแล้วใช้อาวุธปืนยิงฝ่ายตรงกันข้าม แต่ลูกกระสุนปืนดันพลาดไปถูกคนงานก่อสร้างที่กำลังรับประทานก๋วยเตี๋ยวตายคาชามก๋วยเตี๋ยว ด้วยความรัก ความสงสารลูก กลัวลูกจะติดคุก (เมตตา กรุณา) คุณสมจิตรพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกพ้นจากความผิด จากตัวอย่างนี้คุณสมจิตได้ใช้คุณธรรมข้อนี้ผิดไปจากหลักการทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม

    ตัวอย่างที่สอง สมบัติรักสมควรเพื่อนซี้คนนี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดบอกใครต่อใครว่า “เขาสามารถตายแทนเพื่อนคนนี้ได้” วันหนึ่งสมควรไม่มาเรียน และวันนั้นเป็นวันที่ครูออกแบบทดสอบให้นักศึกษาทำเพื่อเก็บคะแนน ด้วยความรักและสงสารเพื่อน กลัวเพื่อนจะไม่มีคะแนน และอาจจะทำให้สอบตกในรายวิชาดังกล่าวได้ สมบัติจึงทำแบบทดสอบให้สมควรด้วยอีกหนึ่งฉบับ ตัวอย่างนี้ ชี้ให้เห็นว่า การใช้กรุณา ความสงสารเพื่อนของสมบัติเป็นเรื่องที่ผิดจากหลักการทางพระพุทธศาสนา ที่ถูกต้องสมบัติจะต้องใช้ความกรุณาด้วยการโทรศัพท์ไปเตือนให้เพื่อนมาเรียนและทำแบบทดสอบด้วยตัวเอง ถ้าทำถึงที่สุดแล้วเพื่อนก็ไม่มาเรียนก็ต้องใช้หลักอุเบกขาธรรมคือวางเฉยเพื่อให้เกิดความชอบธรรมแล้วก็ค่อยๆ หาวิธีการช่วยเหลือให้เขากลับตัว กลับใจมาสนใจการเรียนให้มากขึ้น ดังนั้น มนุษย์ผู้หวังความถูกต้องเป็นธรรม จำเป็นต้องมีปัญญาในการพิจารณาว่าการใช้คุณธรรมข้อนี้อย่างไรจึงจะถูกต้อง อย่างไรผิด ก็จะช่วยให้เราใช้หลักธรรมได้อย่างสร้างสรรค์ ดีงาม เมื่อนั้นโลกของเราจะมีความชอบธรรม ความยุติธรรมมากขึ้น

บทความที่ผมนำมาลงนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น