วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑ : กตัญญู กตเวที ตอบแทนคุณอย่างไร...จึงจะถูกต้อง?


ตาสีด่าลูกชายของแกที่ทำตัวเหลวไหล งานการไม่ยอมทำ วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ ประเภทบ่ายคล้อยเป็นลากหางออกจากบ้าน กลับมาอีกทีก็เช้า กินข้าวแล้วก็นอนว่า “ไอ้ลูกอกตัญญู ไม่เอาเยี่ยงอย่างลูกชาวบ้านเขา มึงไม่อายไอ้ไข่ ลูกไอ้เขียนมันบ้างหรือไง มันตัวกะเปี๊ยก อ่อนกว่ามึงตั้ง ๕ ปี แต่มันทำงานช่วย

พ่อแม่มันตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต มึงเอาอย่างมันมาใช้สักนิดหนึ่งได้ไหมวะไอ้สัน…” (เติมเอาเองตามใจชอบนะครับผู้อ่าน อ๋อ! ผมลืมบอกไปว่าลูกชายตาสีแกชื่อไอ้สันต์ แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่าไอ้สันดาน...)

    ยกเรื่องตาสีกับลูกชายที่ยอดแย่ มาพูดเสียยาว เพราะต้องการหันเข้ามาหาคำว่า “กตัญญู กตเวที” คำนี้มีการเข้าใจผิดกันในหลายประเด็น ขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา ๒ ประเด็น คือ

    ๑. คนบางส่วนมักเข้าใจว่าคุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของคนที่ต้องปฏิบัติต่อคน เป็นคุณธรรมของผู้น้อยที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่หรือคนที่สำนึกในบุญคุณของผู้ใดผู้หนึ่งก็ต้องมีคุณธรรมข้อนี้ เช่น เด็กชายเหน่ง เด็กหญิงมีนา เซี่ยงหลิว ออกไปขายปลาท่องโก๋กับโอวัลตินแทนแม่ ดูแลแม่ที่เจ็บป่วย และหาเงินให้พ่อยอดแย่เอาไปกินเหล้าหมด ตัวอย่างเรื่องลูกชายตาสีที่ไม่รู้จักหน้าที่ของลูกที่ดี ไม่ยอมช่วยเหลือพ่อแม่ ไม่ทำตัวให้พ่อแม่สบายอก สบายใจ วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ กินแล้วก็นอน โบราณก็ถือว่าเป็นคนอกตัญญู อกตเวที เพราะไม่รู้จักบุญคุณและตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่

    ความจริงเรื่องกตัญญู กตเวทีนั้น มิได้จำกัดเฉพาะคนกับคนเท่านั้น เราสามารถนำมาใช้กับทุกสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่ให้ประโยชน์แก่เราทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ ตัวอย่างเช่น บรรพบุรุษไทยสอนให้ลูกหลานกราบไหว้แม่น้ำ ต้นข้าว แผ่นดิน และเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “แม่คงคา แม่โพสพ แม่ธรณี” เสมือนหนึ่งเป็นความเชื่อ แต่ถ้าพิจารณาแล้ว มันเป็นเรื่องของการปลูกฝังจริยธรรมคือความกตัญญู กตเวทีที่บรรพบุรุษไทยได้พร่ำสอนให้บุตรหลานสำนึกในบุญคุณของน้ำ ข้าว และแผ่นดิน และพยายามสอนให้เราตอบแทนบุญคุณของน้ำ ข้าว และแผ่นดินด้วยการใช้อย่างระมัดระวัง เช่น ไม่ทิ้งของเสีย ปัสสาวะ อุจจาระลงในแหล่งน้ำ ถ้าทำเป็นบาป กินข้าวต้องกินให้หมด อย่าให้หกเรี่ยเสียหาย อย่าทรยศต่อแผ่นดินเกิด เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าคุณธรรมข้อนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ

    ๒. เราต้องตอบแทนคุณคนที่มีพระคุณทุกกรณีโดยไม่มีข้อแม้ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ ประเด็นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอีกประการหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ขอยกตัวอย่างไว้เป็นกรณีศึกษา ๒ ตัวอย่าง คือ

    ตัวอย่างที่หนึ่ง วันหนึ่งนายจงอางผู้ใหญ่บ้านหนองน้ำเขียว ประกาศกับชาวบ้านที่มาทำบุญที่วัดว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย กระผมมีเรื่องหนึ่งที่อยากให้พ่อแม่พี่น้องช่วยก็คือคุณสมชายได้เคยบริจาคเงินขุดสระน้ำ ทำถนนเข้าหมู่บ้าน สร้างห้องสมุดโรงเรียน และห้องน้ำที่วัดบ้านเรา เขาก็สร้างถวาย เขาเป็นคนที่มีบุญคุณต่อพวกเรามาก ตอนนี้ลูกชายของเขาคือคุณสมบุรุษได้สมัครเป็นส.ส. อย่างไรให้พวกเราช่วยลงคะแนนให้ลูกชายเขาที เบอร์ ๙๙ อย่าลืมนะพ่อแม่ พี่น้อง ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ทุกท่านให้ความร่วมมือ”

    ตัวอย่างที่สอง นายมากับนางมดพูดกับนางสาวละมุด ลูกสาววัย ๑๖ ว่า “พ่อแม่เลี้ยงดูเอ็งมาจนโตเป็นสาวแล้วนะ ตอนนี้ถึงเวลาที่แกจะต้องตอบแทนคุณพ่อแม่บ้างละ เนื่องจากพ่อแม่ก็อายุมากขึ้นทุกทีแล้ว พ่อกับแม่คิดว่าจะส่งเอ็งไปอยู่กับอีแววมัน (แม่เล้าที่เป็นคนบ้านเดียวกันที่เคยไปยึดอาชีพขายบริการทางเพศและหันมาเป็นแม่เล้าหาเด็กไปขายบริการทางเพศแทน) เอ็งเห็นไหม สาวๆ ในหมู่บ้านนี้ที่ไปทำงานกับอีแวว มันนำเอาเงินมาให้พ่อแม่มันปลูกบ้าน ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ซื้อทองหยองใส่ หน้าตายิ้มแย้มไปตามๆ กัน แถมอีสาวเหล่านั้นยังแต่งตัวด้วยผ้าใหม่ๆ มีข้าวของที่ทันสมัย ราคาแพงๆ ใช้กันอย่างสบาย เอ็งต้องทำนะ เพราะเอ็งเป็นลูกสาวคนเดียวของพ่อแม่” ในที่สุดสาวละมุดจำใจต้องทำตามที่พ่อแม่ขอร้องเพื่อตอบแทนพระคุณ

    จากตัวอย่างทั้ง ๒ เรื่อง เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดจากหลักธรรมข้อนี้ การตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณทั้ง ๒ กรณี เป็นเรื่องที่ผิดธรรม ไม่ถูกต้อง ในกรณีแรกเป็นการกระทำที่ขาดปัญญาของผู้ใหญ่ที่ไปร้องขอให้ชาวบ้านเลือกลูกชายของผู้มีบุญคุณต่อวัดและหมู่บ้านเป็นส.ส. อาจเป็นการสนับสนุนคนผิดให้เข้าไปสร้างปัญหาแก่ชาติบ้านเมืองได้ และเป็นการผิดธรรมเรื่องมุทิตา คือการสนับสนุน ยกย่อง ส่งเสริมคนดีให้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นผู้นำ ที่ถูกต้องผู้ใหญ่ต้องใช้อุเบกขาธรรม คือวางตัวเป็น

กลางทางการเมือง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่เขาจะต้องใช้ปัญญาในการเลือกสรรคนเข้าไปทำหน้าที่แทนเขาเอง กรณีที่สอง เป็นการร้องขอที่ผิดธรรมของพ่อแม่ข้อเมตตา กรุณา พ่อแม่ที่ดีต้องไม่ร้องขอให้ลูกตอบแทนคุณด้วยการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การกระทำดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่เห็นแก่ตัว ขาดความรัก ความสงสารลูก มองเห็นเฉพาะเรื่องความสุข ความมีหน้าตาทางสังคมที่ตนจะได้รับ แทนการตกนรกทั้งเป็นของลูกสาว กรณีเดียวกันนี้ ลูกก็อาจจะท้วงติงพ่อแม่ด้วยเหตุผล มิใช่ยอมทำตามเพราะเห็นว่าท่านมีพระคุณต่อเราในทุกเรื่อง เพราะนั่นเราก็กำลังทำผิดธรรมด้วย ตัวอย่างที่นำเสนอมานี้อาจทำให้ผู้อ่านเห็นว่า การใช้คุณธรรมข้อนี้จำเป็นต้องมีปัญญากำกับด้วยนะครับ

หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น