วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๘ : คติ : ตายแล้วไปไหน?


บรรยากาศในงานเผาศพของตาเมฆเต็มไปด้วยความเศร้าโศก อาลัย ลานวัดแออัดไปด้วยคนที่รู้จักมักคุ้นและคนที่เคารพนับถือในตัวตาเมฆ เนื่องจากตาเมฆแกเป็นคนดี มีน้ำใจ เป็นคนที่เสียสละ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสังคมเสมอมา หลังจากที่ทำพิธีสวดมาติกา บังสุกุล นำศพเวียนรอบเมรุ ทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ อ่านประวัติผู้ตาย ยืนไว้อาลัย ท่านประธานในพิธีขึ้นทอดผ้ามหาบังสุกุล พระภิกษุพิจารณาผ้ามหาบังสุกุล ประธานในพิธีวางดอกไม้จันทน์ พระสงฆ์ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ผู้ที่มาเผาศพต่างทยอยกันขึ้นวางดอกไม้จันทน์ และรับของที่ระลึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาเผาจริง หลังจากที่สัปเหร่อเปิดโลงศพให้ญาติดูหน้าตาเมฆเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็นำโลงศพตาเมฆเข้าเตาเผา ยายเมี้ยนภรรยาสุดที่รักของตาเมฆได้พูดขึ้นว่า “พี่ๆ ไปสู่ที่ชอบๆ เถอะนะ”

    ผู้อ่านฟังแล้วเข้าใจคำที่ยายเมี้ยนแกพูดกับสามีกันอย่างไรบ้าง บางคนบอกว่า “ที่ชอบๆ ในที่นี้ก็คือขอให้ผู้ตายไปยังสถานที่ที่ตัวเองอยากไป” บางคนบอกว่า “ให้ไปในที่ไม่มีทุกข์อีกแล้ว” ประเด็นนี้เองที่ทำให้เห็นถึงความเข้าใจของชาวบ้านยังไม่ตรงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอหลักการเรื่องนี้ไว้ ๒ ประเด็น คือ

    ๑. ความหมาย คำว่า “คติ” ในเรื่องนี้ หมายถึง ที่ไป หรือภพภูมิที่คนตายแล้วไปเกิด ซึ่งมีอยู่ ๒ ทางเลือก คือ (๑) สุคติ หมายถึง ทางไปหรือภพภูมิที่เกิดที่ดี มี ๒ ประการ คือ มนุษย์กับสวรรค์ การที่ยายเมี้ยนต้องการให้ตาเมฆที่ตายไปแล้วไปสู่ที่ชอบๆ นั้น หมายถึง แกต้องการให้ตาเมฆไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่งซึ่งเทวดาบางชั้นก็ยังไม่หมดความทุกข์ เพราะยังไม่ได้หลุดพ้น หรือต้องการให้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง (๒) ทุคติ หมายถึง ทางไปหรือภพภูมิที่เกิดที่ไม่ดี มีอยู่ ๔ ประเภท คือ นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย เป็นภพภูมิที่คนไม่ปรารถนาจะไปเกิด เพราะไม่มีความเจริญ มีแต่ความทุกข์ทรมาน

    ๒. แนวทางปฏิบัติเพื่อเข้าสู่สุคติ โดยหลักการแล้วมีหลายประการ แต่สรุปแล้วก็จะอยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง หรือใช้หลักการที่สรุปไว้ในโอวาทปาติโมกข์ ๓ ประการ คือไม่ทำความชั่ว ทำความดี และทำใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์ โดยเฉพาะประเด็นที่สามคือการพัฒนาจิตจนเกิดความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้เราพบกับสันติสุข ปราศจากความทุกข์อย่างแท้จริง จัดเป็นเรื่องที่หลุดพ้นไปจากสุคติและทุคติ

    จากหลักการที่กล่าวข้างต้น อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเรื่องคติได้ในระดับหนึ่ง ผู้อ่านที่ต้องการศึกษารายละเอียดขอให้ไปค้นคว้าหนังสือทางวิชาการที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอแนะนำหนังสือเรื่องหนึ่งที่คิดว่าจะให้รายละเอียดได้ดีคือหนังสือเรื่องมรณานุสติของหลวงพ่อปัญญานันทะ ภิกขุ

บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิด หน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

1 ความคิดเห็น: