วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๓ : จริต : มารยาหรือนิสัยของมนุษย์?


   ยายเมี้ยนแกเป็นคนปากจัด วันหนึ่งแกด่าลูกสาวของแกว่า “มึงนี่ดัดจริตจริงๆ น้ำเปล่าทำเป็นกินไม่ได้ ต้องใส่น้ำแข็ง กูไม่มีหรอกน้ำแข็งน่ะ มีแต่น้ำแข้งกับน้ำหลังมือเนี่ยะ มึงจะเอาไหม” เล่นเอาลูกสาวแกงอนตุ๊บป่อง เดินกระทืบเท้าตึงๆ ส่งผลให้เสาเข็มใต้พื้นบ้านทรุดตัวไปหลายเซ็นต์ (ลืมบอกไปว่า ลูกสาวแกน้ำหนักเพียงแค่ ๑๓๐ ก.ก.เท่านั้นเอง)
    ยกประเด็นยายเมี้ยนด่าลูกสาวมาเล่าให้ฟัง เพื่อชี้ให้เห็นว่า แกใช้คำว่า “จริต” มาผสมผสานกับคำว่า “ดัด” มาเป็นคำด่า กลายเป็น “ดัดจริต” ซึ่งมีความหมายว่า แสร้งทำกิริยาหรือวาจาให้เกินควร เพื่อให้เห็นความหมายและแนวทางปฏิบัติต่อเรื่องนี้ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาขอสรุปประเด็นเรื่องนี้ไว้ ๒ ประการ คือ
    ๑. ความหมายและประเภท คำว่า “จริต” หมายถึง ความประพฤติของคน ซึ่งมักจะหนักไปทางใดทางหนึ่ง มีอยู่ด้วยกัน ๖ ประเภท คือ (๑) ราคจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางรักสวย รักงาม เจ้าระเบียบ (๒) โทสจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเจ้าโทสะ โกรธง่าย วู่วาม ชอบความรุนแรง (๓) โมหจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเขลา ขาดปัญญา ทำอะไรมักผิดพลาดอยู่เสมอ (๔) สัทธาจริต หมายถึง  คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเชื่อง่าย ใครพูดอะไรมาก็มัก
จะเชื่อ โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน (๕) พุทธิจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางเจ้าความคิด เชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบวิเคราะห์ วิจารณ์เรื่องต่างๆ (๖) วิตกจริต หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมที่หนักไปทางด้านวิตกกังวล คิดมาก ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือปุถุชนทุกคนมีจริตทั้ง ๖ ประการ เหมือนกัน แต่จะหนักไปทางใดทางหนึ่งนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น บางคนหนักไปทางด้านรักสวย รักงาม ก็เรียกบุคคลนี้ว่าเป็นคนราคจริต เป็นต้น
    ๒. ประโยชน์ การเรียนรู้จักจริตเหล่านี้จะทำให้เราสามารถปรับพฤติกรรมที่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่งอย่างเกินขอบเขตให้เกิดความพอดี ถูกต้อง เหมาะสม ตลอดจนกระทั่งระมัดระวังจริตที่จะสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง ผู้อื่น และสังคม รวมถึงการปฏิบัติและการวางตนต่อบุคคลที่มีจริตต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
    จะเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องจริตเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมาก มิใช่เป็นเรื่องของกิริยาท่าทางที่แสดงออกมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินจริง เหมือนอย่างที่ชาวบ้านชอบพูดกันว่า “ดัดจริต” แต่เป็นการเรียนรู้ถึงนิสัยของตัวเองเพื่อที่จะหาทางแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีงามอันเป็นการป้องกันความเสียหายต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคมไปในตัวด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้นิสัยของคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราระมัดระวังและปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
บท ความที่ผมนำมาลงนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไปเผยแพร่ที่อื่นผมยินดี ครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่า เขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น