วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๑๙ : ฎีกา : ใบอะไรเอ่ย?

วันหนึ่งไอ้จุกวิ่งหน้าตั้งเอาใบอะไรก็ไม่รู้มาให้นายมะละกอผู้เป็นพ่อของตนแล้วบอกว่า “ตามะกอก ทายกวัดโค้งมะขามฝากมาให้พ่อ” 

 นายมะละกออ่านดูก็รู้ว่าเป็นใบฎีกาบอกบุญงานวัด จึงอุทานขึ้นมาว่า “โอ้ย ! ตาย แน่ๆ เห็นทีกูจะต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นแล้วกระมัง” 

นางแตงไทยภรรยาสุดที่รักถามขึ้นมาด้วยความสงสัยว่า “นึกอย่างไรขึ้นมาถึงจะเปลี่ยนศาสนาอีกล่ะ ศาสนาไหนมันก็ดีเหมือนกันแหละ เพราะศาสนาเขาสอนให้คนเป็นคนดี ผีเข้าหรือไง” 

นายมะละกอพูดสวนทันควันว่า “ไอ้ที่กูพูดไปเมื่อกี้นี้น่ะ เพราะกูเพลียบุญโว้ย การ์ดแต่งงานบ้านไอ้แกละ การ์ดงานบวชบ้านไอ้หม่อง การ์ด งานทำบุญร้อยวันบ้านตาจ้ำยังไม่ได้เอาเงินใส่ซองเลย เดี๋ยวก็มีวัดโน้น วัดนี้มาเรี่ยไรอีก นี่ก็ใบฎีกาบอกบุญงานวัดอีก จะไม่ให้กูพูดอย่างนี้ได้อย่างไร” เอาเป็นว่าเราจบเรื่องลงตรงนี้ก่อนนะครับ หันมาเข้าประเด็นที่จะพูดดีกว่า

ใบฎีกาเป็นใบที่ทางวัดประกาศเชิญชวนให้ญาติโยมไปร่วมบุญเนื่องในวันสำคัญ เทศกาลทางศาสนา หรือกิจกรรมที่ทางวัดจัดขึ้นเป็นครั้งคราวในปีหนึ่งๆ ซึ่งใครจะไปหรือไม่ไปนั้นทางวัดเขาไม่บังคับหรอกครับ การจะทำบุญช่วยทางวัดหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช้วัตถุประสงค์หลักของการออกใบฎีกา เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ขอให้ผู้อ่านดูหลักการเกี่ยวกับคำนี้ดังต่อไปนี้

    ๑. วัตถุประสงค์ของการออกใบฎีกา เพื่อต้องการให้คนไปร่วมงาน อันเป็นการแสดงพลังของศรัทธาหรือความเชื่อ ความสามัคคี เป็นการพบปะสังสรรค์กัน ทำประโยชน์ให้แก่วัดและชุมชนร่วมกัน และที่สำคัญก็คือการไปร่วมงานจะทำให้ได้ทั้งบุญคือความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำความดี ได้ทั้งกุศลคือความฉลาดในการทำความดี โดยเฉพาะได้หลักการดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ที่พระท่านแสดงหรือเทศน์ให้ฟัง

    ๒. การจะเข้าร่วมหรือไม่อยู่ที่ความพร้อม ถ้าเสียสละเวลาหรือภาระหน้าที่การงานไปได้ ก็เป็นการดี แต่ถ้ามีธุระติดขัดจริงๆ ไม่สามารถไปได้ก็ส่งตัวแทนไป หรือถ้าไม่มีใครสามารถไปได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ถือว่าเป็นบาปกรรมอะไร

    ๓. การจะนำเงินหรือสิ่งของไปช่วยวัดก็ให้พิจารณาดูความเหมาะสม ทำเท่าที่เราสามารถทำได้ อย่าทำให้ตัวเองและครอบครัวเดือดร้อน มากหรือน้อยไม่ใช่ข้อยุติของเรื่องบุญกุศล เนื่องจากมีองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณาอีกหลายประเด็น เป็นอันว่ามีน้อยทำน้อย มีมากก็ทำตามสมควร ถ้าไม่มี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะการช่วยเหลือวัดหรือกิจกรรมของวัดมีหลายวิธี เอาแรงกายไปช่วยก็ได้ หลวงพ่อท่านอนุโมทนาทั้งนั้นแหละครับ

หลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ เป็นหลักปฏิบัติแบบง่ายๆ ที่เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน เรื่องบุญกุศลมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขอให้ผู้สนใจไปศึกษารายละเอียดเอาเองก็แล้วกัน นอกจากนี้ คำว่า ฎีกา ยังหมายถึง คัมภีร์ที่แก้หรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถา และคำว่า ใบฎีกา ยังหมายถึง หนังสืออาราธนาพระสงฆ์ไปในการทำบุญต่างๆ และตำแหน่งพระฐานานุกรมรองพระสมุห์ลงมาด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น