วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ ๕ : ขันติ : อดทนอย่างไรถึงจะถูกต้อง?


เช้าวันหนึ่งนายกระโดนตะโกนลั่นทุ่งว่า “ขันติโว้ย ขันติๆ” พาเอาเพื่อนฝูงตกอกตกใจ บางคนพูดว่า “แหม! วันนี้ไอ้กระโดนเล่นธรรมะแต่เช้าเชียว” ทิดแดงนักบวชเก่าอดสงสัยไม่ได้จึงถามขึ้นว่า “ไอ้กระโดน ไอ้ขันติที่แกพูดเนี่ยะ มันหมายความว่าอะไรวะ”  

นายกระโดนชักไม่พอใจ คิดว่าทิดแดงลองภูมิ จึงตอบไปว่า “แหม! ทิดก็น่าจะรู้นะว่าขันติมันแปลว่าอะไร ถ้าไม่รู้ก็นับว่าบวชเปลืองข้าววัด รู้แล้วแกล้งทำมาลองภูมิ เดี๋ยวพัดหลังมือซะนี่” นายกระโดนแกเล่นแรง สรุปว่า การสนทนาของคนทั้งสองยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างนั้นผู้เขียนขอสรุปให้เองก็ได้ การที่นายกระโดนแกร้องขันติโว้ย ขันติๆ น่ะ เพราะแกถูกเมียด่าแต่เช้ามืด ด่าตอนไหนก็ไม่ด่า มาด่าตอนกำลังโก่งตูดนอนอยู่อย่างสบาย จะไม่ให้เมียแกด่าได้อย่างไร ก็แกเล่นกินเหล้าเมาตั้งแต่หัวค่ำจน ๒ โมงเช้า (๐๘.๐๐ น.) ก็ยังไม่ตื่น เพื่อนบ้านพากันจูงควายออกไปไถไร่ไถนาได้เป็นไร่ๆ แล้ว 

นี่คือสาเหตุที่เมียแกด่า แต่นายกระโดนไม่กล้าหือกับเมียแกหรอก เพราะแกเป็นคนกลัวเมียอย่างกับหนูกลัวแมประมาณนั้น ขนาดเมียแกใช้ให้ซักผ้า แกยังโดดถีบเอาเสียเลย (ถีบจักรยานไปซื้อแฟ็บมาซักผ้าจ้า) ข้อดีของแกก็คือเวลาเมียแกด่าทีไร แกจะไม่โต้ตอบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม คงรู้ตัวเองว่าผิดนะซิ อย่างมากแกก็จะตะโกนออกมาว่า “ขันติ ขันติโว้ย”

    จากตัวอย่างจะเห็นการใช้ขันติเพื่อสร้างความงดงามให้แก่ตัวเองของนายกระโดน แต่มีอีกหลายกรณีที่ชี้ให้เห็นว่าคนใช้คุณธรรมข้อนี้อย่างไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น

    ตัวอย่างที่หนึ่ง นายเหี้ยมหาญ ฉายามือปืนร้อยศพ ใช้ความอดทน (ขันติ) อย่างสูงในการดักรอเพื่อที่จะยิงนายตี๋เล็กหัวคะแนนของนายโตผู้สมัครรับเลือกตั้งกำนันตำบลมะกอกขม เขาใช้ความเพียรพยายามและความอดทนดักรออยู่ ๗ วัน จึงฆ่านายตี๋เล็กได้สำเร็จ

    ตัวอย่างที่สอง นายอดโซ จอมลักเล็กขโมยน้อย เป็นนักย่องเบาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอย่างมาก วันหนึ่งเขาใช้ความพยายามและความอดทนเหม็นกลิ่นขี้หมู โดยการลุยเข้าไปในคลองระบายน้ำที่มีแต่น้ำขี้หมู เพื่อจะเข้าไปขโมยของที่บ้านตาสอน ในที่สุดมันก็ลักปั๊มน้ำที่บ้านตาสอนไปแลกยาบ้าจนได้



    จากตัวอย่างที่ยกมาทั้ง ๒ กรณี ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวแม้จะออกมาจากขันติ แต่เป็นพฤติกรรมที่เป็นอกุศลกรรมจึงเป็นเรื่องที่ผิดจากหลักการทางพระพุทธศาสนา สรุปก็คือบุคคลตัวอย่างได้ใช้ธรรมที่ผิดไปจากหลักการ และเป็นการใช้ธรรมอย่างขาดปัญญา เพราะมองไม่เห็นโทษที่จะเกิดขึ้นกับตนและบุคคลอื่น นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เรื่องความอดทนต้องใช้ในเรื่องที่ดีงาม สร้างสรรค์จึงจะถูกธรรม

บทความที่ผมนำมาลงนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์คุณา แต่หากท่านต้องการนำบทความเรื่องราวในบล๊อกของผมออกไป เผยแพร่ที่อื่นผมยินดีครับ...เพียงแต่ขอให้ลงเครดิสให้กับอาจารย์ของผมนิดหน่อยตรงชื่อผู้เขียนว่าเขียนโดย ผศ.ธีรโชติ เกิดแก้ว จากสำนักพิมพ์คุณา ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น